“ตับ” ผมมั่นใจว่าหลายท่านคงรู้จัก หรือรู้อยู่แล้วว่าคืออะไร แต่จะรู้มั้ยครับ ว่า ตับนั้นมีความสำคัญมากน้อยขนาดไหน หน้าที่ของตับมีอะไรบ้าง และการ ตรวจตับ นั้นเป็นอย่างไร มาดูกันครับ
ตับ ชื่อสั้น ๆ แต่เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายเรา อยู่ชายโครงด้านขวาใต้กระดูกซี่โครง สีแดง มี 2 กลีบ ซ้าย-ขวา ปกติจะคลำไม่ได้ นอกจากจะเกิดความผิดปกติจนเกิดภาวะตับโต
หน้าที่ของ ตับ มีมากมายเกินกว่าขนาดที่ใหญ่ที่สุดด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสารต่างๆที่สำคัญ เช่น โปรตีนไข่ขาว หรือ Albumin ช่วยอุ้มน้ำให้อยู่ในหลอดเลือดไม่ให้เกิดการบวมน้ำ ตับ ผลิตน้ำดี และเกลือน้ำดีเพื่อช่วยย่อยสลายไขมัน ตับ สร้างสารห้ามเลือด เป็นเสมือนโรงงานสะสมพลังงาน และผลิตพลังงานให้ร่างกายโดยสลายสารอาหาร คอยกำจัดของเสียในร่างกาย ทำลายและกำจัดสารพิษในร่างกาย และอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญคือ เป็นที่อยู่ของเม็ดเลือดขาวที่เปรียบเป็นทหารคอยปกป้องไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาทำร้ายร่างกาย ทีนี้เรามารู้จักกับการตรวจการทำงานของ ตับ กันครับ
ตรวจตับ นั้นเป็นอย่างไร
การตรวจการทำงานของตับ (Liver Function Test : LFT) คือกลุ่มการตรวจทางเคมีคลินิก เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานะของตับ จากการเจาะเลือดและ ตรวจวิเคราะห์โดยนักเทคนิคการแพทย์ จำแนกได้เป็น
1. การตรวจหาโปรตีนที่สร้างจากตับได้แก่ Total Protien ประกอบด้วย
1.1 Globulin เป็นโปรตีนที่สร้างจากตับและเม็ดเลือดขาว
1.2 Albumin เป็นโปรตีนที่สร้างจากตับ ถ้าตับสร้างสารนี้ไม่ได้ก็จะเกิดการบวมน้ำ
2. การตรวจเอนไซม์จากตับ ได้แก่
2.1 AST หรือ SGOT พบได้ในตับ ไต เนื้อเยื่ออื่นๆ พบค่าสูงได้ในโรคหัวใจ โรคตับ หรือการออกกำลังกายมากเกินไป
2.2 ALT หรือ SGPT พบมากในตับและไต พบน้อยในกล้ามเนื้อหัวใจ และตับอ่อน พบค่าสูงได้ในโรคตับอักเสบ ตับแข็ง
การตรวจเอนไซม์จาก ตับ อาจตรวจพบค่าที่สูงได้ในคนอ้วน หรือคนที่มี ไขมันเกาะตับ และลดลงได้เมื่อไขมันลดลง โรคที่ทำให้ค่าทั้งสองสูงได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ (Viral Hepatitis) ตับอักเสบจากการการดื่มสุรา ทานยาประจำ (คนที่มีโรคประจำตัว) เนื้องอกในตับ หัวใจวาย
3. การตรวจการทำงานของตับเมื่อมีการอุดกั้นของทางเดินน้ำดีได้แก่
3.1 ALP หรือ Alkaline Phosphatase ซึ่งพบได้ในกระดูก ลำไส้ ไต และตับ
3.2 Gamma GT ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบมากในตับ และจะพบว่าสูงขึ้นในโรคตับจาก การดื่มสุรา นิ่วในถุงน้ำดี หรือ คนอ้วน
4. การตรวจว่ามีดีซ่านหรือไม่ จากค่า Bilirubin ปกติแล้วน้ำดีมาจากการสลายตัวของเม็ดเลือดซึ่งผ่านกระบวนการที่ตับ และขับออกทางท่อน้ำดี การเกิดดีซ่านก็หมายถึงการคั่งของน้ำดีทำให้เกิดภาวะตัวเหลือง ตาเหลือง
4.1 Total Bilirubin หรือ Indirect Bilirubin สูงจากโรคตับและมีการแตกของเม็ดเลือดแดง
4.2 Direct Bilirubin สูงในโรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคตับ
เมื่อเห็นว่าตับนั้นมีหน้าที่ ความรับผิดชอบมากมายขนาดนี้ แล้วถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องดูแลและคอยตรวจดูการทำงานของตับว่ายังคงแข็งแรง ทำหน้าที่ได้ดีมากน้อยขนาดไหน อย่าลืมหันมาดูแลตับของท่านนะครับ ^^