พูดถึง ฮอร์โมน ตัวแรกที่มีความสำคัญและถูกพูดถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ฮอร์โมนเพศ เพราะความเปลี่ยนแปลงของอายุ ทำให้ฮอร์โมนเพศเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างตามมา เรามาทำความรู้จักฮอร์โมนทีละตัว ตามเพศกันนะคะ
ฮอร์โมน ของ ผู้ชาย
Testosterone ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่หลั่งมาจากอัณฑะ ต้องใช้คอเลสเตอรอลในการสร้าง ดังนั้นร่างกายจึงต้องมีไขมันเพื่อมาสร้างเป็นฮอร์โมนเพศค่ะ โดยที่ฮอร์โมนเพศชายจะทำให้ร่างกายของคุณผู้ชาย มีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีกล้ามเนื้อใหญ่ขึ้น มีหนวด เครา ขน เสียงแตก และมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศ ถ้าหากฮอร์โมนทำงานปกติร่างกายก็จะไม่มีปัญหาและมีการพัฒนาไปตามวัย แต่ถ้าหากมีฮอร์โมนเพศชายต่ำ ในเด็กจะมีการพัฒนาเป็นเพศชายที่ไม่สมบูรณ์ แต่หากลดลงก่อนวัยอันควรจะมีผลกับกล้ามเนื้อ มวลของกระดูกและ มีความเสี่ยงที่กล้ามเนื้อจะลีบเล็กลงได้ และกระดูกจะบางง่าย มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของอวัยเพศ และการมีเพศสัมพันธ์ เราสามารถเพิ่มฮอร์โมนได้นะคะ จากการออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ และกินอาหารกลุ่มที่ช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศชาย เช่น Zinc หรือแร่สังกะสี ซึ่งอยู่ในอาหารพวก หอยนางรม นั่นเองค่ะ
ฮอร์โมน ของ ผู้หญิง
1. เอสโตรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ผลิตจากรังไข่ จะทำให้ลักษณะร่างกายของคุณผู้หญิงมีการเติบโต มีความเป็นผู้หญิงมากขึ้น เช่น มีเต้านม สะโพกผาย มีผิวดีขึ้นและ เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวเนื่องกับการมีประจำเดือน การผลิตไข่ การตกไข่ และยังช่วยในเรื่องการทำงานของกล้ามเนื้อ และกระดูก แต่ถ้าหากเอสโตรเจนลดลงในวัยที่ผู้หญิงที่หมดประจำเดือน จะมีความเสี่ยงที่กระดูกจะบางมากขึ้นค่ะ เพราะมวลกระดูกลดลง กล้ามเนื้อไม่ค่อยแข็งแรง และมีสภาวะของการหมดประจำเดือน เช่น ร้อนวูบวาบตามตัว แต่เราสามารถ ที่เพิ่มระดับฮอร์โมนเพศหญิงได้นะคะ โดยเน้นเรื่องการกินอาหารที่มีเอสโตรเจนสูง เช่น น้ำมะพร้าว ถั่วเหลือง นมถั่วเหลืองค่ะ
2. โปรเจสเตอโรน (Progesterone) เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะสูงขึ้นในช่วงที่จะตั้งครรภ์หรือมีรอบเดือนค่ะ และเตรียมพร้อมที่จะให้ไข่ที่ได้รับจากสเปิร์มแล้วมาฝังตัว โปรเจสเตอโรนสามารถหลั่งได้จากรังไข่และต่อมหมวกไต ฮอร์โมนตัวนี้จะกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว ในช่วงที่มีรอบเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกจะหนาขึ้นเตรียมพร้อมกับการฝังตัวของตัวอ่อนในการตั้งครรภ์ ถ้าไม่มีการฝังตัวของตัวอ่อนระดับโปรเจสเตอโรนก็จะลดลง เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน แต่ถ้าหากมีการตั้งครรภ์โปรเจสเตอโรนจะยังมีระดับสูง เพื่อรักษาไม่ให้มดลูกบีบตัวและยังสูงตลอดการตั้งครรภ์ค่ะ
โดยสรุปแล้วจะฮอร์โมนเพศชายและหญิง มีความสำคัญมากนะคะในการสร้างลักษณะทางเพศ และสำคัญต่อสุขภาพและยังแสดงออกถึงอาการเจ็บป่วยต่างๆได้ หากฮอร์โมนเพศเกิดความไม่สมดุล ทั้งนี้แล้วการตรวจฮอร์โมนเพศ จึงถือเป็นการดูแลสุขภาพที่เราไม่ควรมองข้ามนะคะ มาดูฮอร์โมนตัวถัดไปกันค่ะ
Growth Hormone ฮอร์โมน การเจริญเติบโต
คือ ฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมใต้สมองแล้ว ส่งเข้าสู่กระแสเลือด โกรทฮอร์โมนจะช่วยในเรื่องความสูงและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ อีกทั้งยังช่วยในการทำงานของสมอง ควบคุมปริมาณไขมัน ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และกระดูก ดังนั้นถ้าเราขาดโกรทฮอร์โมน ซึ่งอาจจะเกิดจาก อุบัติเหตุ หรือได้รับการผ่าตัด ความผิดปกติของต่อมใต้สมองตั้งแต่กำเนิด และการมีเนื้องอกที่มากดที่ต่อมใต้สมอง จะส่งผลให้การหลั่งโกรทฮอร์โมนผิดปกติได้ค่ะ แล้วอาการของการขาดโกรทฮอร์โมนมีดังนี้ค่ะ
– ใบหน้าดูอ่อนกว่าวัย เสียงเล็กแหลม
– รูปร่างเตี้ยเล็กแต่สมส่วน อ้วนกลมเนื่องจากมีไขมันสะสมบริเวณลำตัวมาก
– เด็กผู้ชายมีอวัยวะเพศเล็กกว่าปกติ
DHEA-S ฮอร์โมน ความสุข
เป็นฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นจากต่อมหมวกไต ซึ่งเป็นฮอร์โมนตั้งต้นที่ร่างกายเรานำมาผลิตฮอร์โมนที่สำคัญๆหลายชนิดค่ะ เช่น ฮอร์โมนเพศ เทสโทสเทอโรน หรือเอสโตรเจน และพบว่าDHEAs จะเพิ่มสูงขึ้นในวัยหนุ่มสาวและจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเราอายุเพิ่มมากขึ้น เพราะแบบนี้การตรวจเช็กความสมดุลของฮอร์โมน DHEAs จึงสำคัญ โดยเฉพาะวัย 50 ปีไปแล้วนะคะ
ประโยชน์ของ DHEAS มีเยอะมากค่ะ ทั้งช่วยในเรื่องเสริมสร้างกล้ามเนื้อและเผาผลาญไขมัน ลดโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ปรับสมดุลระบบเผาผลาญ ช่วยให้ความจำดีขึ้น ลดเสี่ยงสมองเสื่อมก่อนวัย ช่วยฟื้นฟูอาการซึมเศร้า และเสริมความหนาแน่นของมวลกระดูก
Cortisol ฮอร์โมน ความเครียด
เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด ถ้าเรามีสภาวะเครียด มีเรื่องวิตกกังวล ฮอร์โมนตัวนี้จะหลั่งมากขึ้นค่ะ และในสภาวะเครียดจะทำให้เรากินเยอะขึ้น หิวบ่อยขึ้น และน้ำหนักขึ้นได้เร็วกว่าปกติ แต่ประโยชน์ของคอร์ติซอลก็มีนะคะคือ ช่วยควบคุมระดับน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย เพื่อรักษาระดับความดันของเราให้ทำงานได้อย่างปกติค่ะ แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มฮอร์โมนตัวนี้ ที่สำคัญที่สุดก็คือการพักผ่อนให้เพียงพอเท่านั้นเองค่ะ จะช่วยให้ร่างกายเราสดชื่นพร้อมที่จะทำงานในทุก ๆ วัน นั่นเองค่ะ
Thyroid function test ฮอร์โมน การเผาผลาญ
เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของต่อมไทรอยด์ ซึ่งจะทำหน้าที่เผาพลาญพลังงานของร่างกายค่ะ ซึ่งจะตรวจตัว TSH,FT3,FT4,T3และT4 หากต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากเกินไปเราจะเรียกว่า Hyperthyroidism จะพบว่าค่าของ T3 หรือ T4 สูงแต่ TSH ต่ำ เกิดจากฮอร์โมนหลั่งมากไป ร่างกายจะเผาผลาญอาหารมาก ทำให้น้ำหนักลด แต่หากต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อยเกินไปเราจะเรียก Hypothyroidism ตรวจเลือดจะพบว่าค่า T3 หรือ T4 ต่ำแต่ TSH สูง เกิดจากฮอร์โมนหลั่งน้อยไป ร่างกายจะเผาผลาญอาหารน้อยลง
ดังนั้น การตรวจฮอร์โมนจึงเป็นการตรวจความสมดุลและการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เพื่อประเมินความผิดปกติของร่างกายเรา ทั้งระบบเผาผลาญ การเสริมสร้างกล้ามเนื้อ การควบคุมอารมณ์ ความเครียด ความรู้สึกทางเพศ และการเจริญพันธุ์ เพื่อที่จะหาแนวทางการปรับให้ฮอร์โมนกลับมาสมดุลอีกครั้งนั่นเองนะคะ