โดยปกติการตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดทั่วๆ ไป หรือ Fasting Blood Sugar (FBS) จะเป็นการตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร 6 – 8 ชั่วโมง
ซึ่งเป็นการตรวจระดับน้ำตาลในช่วงระยะเวลาไม่นานก่อนจะมาเจาะเลือดเท่านั้น ค่าที่ได้จะไม่ค่อยคงที่เนื่องจากไวต่ออาหารที่ทานเข้าไปในช่วงนั้นๆ ในขณะที่การตรวจ น้ำตาลสะสม หรือ Hb A1c จะเป็นการตรวจหาระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา โดยเป็นการตรวจน้ำตาลที่เกาะอยู่กับสารสีแดงในเม็ดเลือดแดงซึ่งเรียกว่า ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) น้ำตาลชนิดนี้จะเกาะอยู่นานเท่าอายุของเม็ดเลือดแดง คือ ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ทำให้เราไม่จำเป็นต้องงดอาหารก่อนมาเจาะเลือด
น้ำตาลสะสม หรือ Hb A1c
เรามาดูความสำคัญของการตรวจ Hb A1c กันแบบเข้าใจง่ายๆนะครับ
1.ช่วยในการวินิจฉัยโรคเบาหวาน โดยการตรวจอย่างน้อย 2 ครั้งขึ้นไป หรือตรวจควบคู่กับการตรวจ FBS ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
2.ช่วยในการประเมินผลการรักษาโรคเบาหวาน
3.ช่วยในการประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
แต่ทั้งนี้ทั้งน้ั้นการตรวจ HbA1c ก็มีข้อจำกัดบางประการ คือถ้าผู้ป่วยมีภาวะหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับเม็ดเลือดแดง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคโลหิตจาง โรคไต โรคตับ เป็นต้น อาจทำให้ค่าระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้
ผมแอบคาดหวังเล็ก ๆ ว่า บทความนี้จะทำให้ท่านมีความเข้าใจและทราบถึงประโยชน์เกี่ยวกับรายการตรวจที่ชื่อว่า HbA1c นี้นะครับ สุดท้ายนี้ผมอยากให้คุณผู้อ่านทุกท่านดูแลรักษาสุขภาพให้ดี รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย และอย่าลืมควบคุมปริมาณของน้ำตาลที่บริโภคในแต่ละวัน (ไม่ควรเกินประมาณ 8 ช้อนชา หรือ 40 กรัมต่อวัน) กันด้วยนะครับ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าครับ