ยาปฏิชีวนะ / ยาฆ่าเชื้อ กับยาแก้อักเสบนั่นก็คือยาชนิดเดียวกันนั่นแหละ นี่คงเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนคิดใช่ไหมคะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยาทั้งสองชนิดนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลยคะ
ไม่ว่าจะเป็นส่วนผสม วิธีใช้ หรือแม้แต่สรรพคุณของตัวยาเอง ซึ่งจากความเข้าใจแบบผิด ๆ ที่เราเชื่อกันมานานนี่ล่ะคะ ที่ทำให้โรคเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทานยาก็น่าจะหายแต่กลับไม่หายสักที หรืออาจรุนแรงไปถึงขั้นทำให้ดื้อยา หรือแพ้ยาจนต้องใช้ยาในปริมาณที่มากขึ้น หรือเปลี่ยนสูตรที่รุนแรงขึ้น สุดท้ายก็มีผลเสียต่อตับ และไตของเรา ๆ ตามมา ดังนั้น บทความนี้ดิฉันจึงอยากมาแก้ไขข้อข้องใจนี้ให้กระจ่าง เกี่ยวกับ ยาปฏิชีวนะ เพื่อท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน
ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ (Antibiotics Drug)
เป็นยาที่ใช้ฆ่า หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในร่างกายแล้วจะมีเม็ดเลือดขาวมาคอยต่อสู้กับเชื้อโรค ส่งผลให้เกิดฝี หนอง และอาการอักเสบต่าง ๆ จึงมีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ ไข้หวัดที่ติดเชื้อแบคทีเรีย ตัวอย่างยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนิซิลลิน (Penicillin), ซัลฟา (Sulfa), อะม็อกซี (Amoxy)
ยาแก้อักเสบ (Anti-inflammatory Drug)
ยากลุ่มนี้จะแบ่งออกเป็นกลุ่มสเตียรอยด์ และไม่ใช่สเตียรอยด์ โดยทั่วไปที่ใช้กันจะเป็นกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น พอนสแตน (Ponstan) ที่สาว ๆ มักคุ้นเคยกันดีเวลาปวดประจำเดือน หรือที่รู้จักกันดีคือ แอสไพริน (Aspirin) โดยยาแก้อักเสบจะออกฤทธิ์แก้อาการอักเสบของเนื้อเยื่อ ทำให้ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ ที่เราพบเห็นใช้กันบ่อย ๆ คือรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ
จะเห็นได้ว่า ยาแก้อักเสบ และยาปฏิชีวนะเป็นยาคนละชนิดกัน มีข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกัน แต่เนื่องจากยาปฏิชีวนะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการอักเสบ คนไข้ที่มีอาการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียเมื่อได้รับยาปฏิชีวนะเข้าไปก็จะทำให้อาการอักเสบบรรเทาลงได้จนทำให้ดูเหมือนว่า “ ยาปฏิชีวนะ ”จะใช้แก้อักเสบได้ แต่ถ้าการอักเสบนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับ การติดเชื้อแบคทีเรีย แต่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดทั่วไป หัด อีสุกอีใส คางทูม หรือเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น โรคภูมิแพ้ ผิวหนังอักเสบจากการแพ้แดด หรือสารเคมี กล้ามเนื้ออักเสบจากการยกของหนัก การทานยาปฏิชีวนะก็จะไม่ช่วยอะไร และยังจะทำให้เชื้อโรคดื้อยาได้มากขึ้น จึงควรเลือกใช้ยาแก้อักเสบที่จะสามารถช่วยบรรเทาอาการได้แทน แต่อย่างไรก็ตามตัวยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียงสำคัญคือ มีฤทธิ์กัดกระเพาะอาหาร ทำให้ในกลุ่มคนที่เป็นโรคกระเพาะ หรือทานอาหารไม่ตรงเวลาจะเกิดปัญหาได้ และคนไทยส่วนใหญ่มักแพ้ยาตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มนี้ค่อนข้างเยอะ และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็มีนะคะ ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าวแล้ววิธีที่ดี และปลอดภัยที่สุดคือ ให้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และลดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อทุกท่านเอง
สนใจการตรวจสุขภาพสอบถามได้ที่ healthlabclinic หรือ มหาชัยทีแแอลซี