fbpx
เฮลท์แลบ คลินิกเทคนิคการแพทย์ บริการตรวจสุขภาพ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ
Follow us :
เบาหวาน

เบาหวาน

โรค เบาหวาน (Diabetes Mellitus) เกิดจากตับอ่อนสร้าง ” ฮอร์โมนอินซูลิน ” (Insulin) ได้น้อย หรือไม่ได้เลย ฮอร์โมนชนิดนี้มีหน้าที่คอยช่วยให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลมาใช้เป็นพลังงาน

เมื่ออินซูลินในร่างกายไม่พอ น้ำตาลก็ไม่ถูกนำไปใช้ ทำให้เกิดการคั่งของน้ำตาลในเลือดและอวัยวะต่าง ๆ เมื่อน้ำตาลคั่งในเลือดมาก ๆ ก็จะถูกไตกรองออกมาในปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะหวานหรือมีมดขึ้นได้ จึงเรียกว่า ” โรคเบาหวาน ” นั่นเอง

ทั้งนี้ โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่หายขาด และเป็นโรคทางพันธุกรรม โดยพ่อแม่ที่เป็นโรคเบาหวาน มีโอกาสถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้ นอกจากพันธุกรรมแล้ว สิ่งแวดล้อม วิธีการดำเนินชีวิต การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ก็มีส่วนสำคัญต่อการเกิด โรคเบาหวาน ด้วย เช่น อ้วนเกินไป (หรือกินหวานมากๆ จนอ้วนก็อาจเป็น โรคเบาหวาน ได้) มีลูกดก หรือเกิดจากการใช้ยา เช่น สเตอรอยด์, ยาขับปัสสาวะ หรืออาจพบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง, มะเร็งของตับอ่อน, ตับแข็งระยะสุดท้าย เป็นต้น

ลักษณะโดยทั่วไปของผู้ป่วย โรคเบาหวาน จะมีอาการปัสสาวะบ่อยและมาก เนื่องจากน้ำตาลที่ออกมาทางไตจะดึงเอาน้ำจากเลือดออกมาด้วย จึงทำให้มีปัสสาวะมากกว่าปกติ เมื่อปัสสาวะมาก ก็ทำให้รู้สึกกระหายน้ำ ต้องคอยดื่มน้ำบ่อย ๆ และด้วยความที่ผู้ป่วย โรคเบาหวาน ไม่สามารถนำน้ำตาลมาเผาผลาญเป็นพลังงาน จึงหันมาเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันแทน ทำให้ร่างกายผ่ายผอม ไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อฝ่อลีบ อ่อนเปลี้ย เพลียแรง นอกจากนี้ การมีน้ำตาลคั่งอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ จึงทำให้อวัยวะต่าง ๆ เกิดความผิดปกติ และนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนมากมาย

สาเหตุของโรคเบาหวาน สามารถแบ่งออกเป็นหัวข้อได้ดังนี้

แทรกซ้อน 1
  • พันธุกรรม – สาเหตุหลักที่พบส่วนใหญ่คือ “ พันธุกรรม ” พบว่า 1/3 ของผู้ป่วยเบาหวานจะมีประวัติคนในครอบครัว หรือบรรพบุรุษมีอาการของโรคเบาหวานอยู่แล้ว ซึ่งยีนของโรคเบาหวานก็จะสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นเช่นเดียวกับยีนพันธุกรรมทั่ว ๆ ไป แต่ก็ไม่ใช่ 100% ของคนที่มีบรรพบุรุษเป็นโรคเบาหวานแล้วจะต้องเป็นโรคเบาหวานตามไปด้วย ในทางกลับกันคนที่ไม่ได้มีบรรพบุรุษเป็นโรคเบาหวานก็อาจจะเป็นคนแรกของตระกูลที่เป็นโรคเบาหวานก็ได้
  • ความอ้วน – ข้อนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักของผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากการมีภาวะ “โรคอ้วน ” หรือมีน้ำหนักเกินนั้น มีผลกระทบอย่างมากในการที่ร่างกายจะตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลิน กล่าวคือ เมื่อร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินลดลง ก็จะมีผลให้การนำพาน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานให้เซลล์ลดลง เป็นผลต่อเนื่องให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและนำไปสู่โรคเบาหวานนั่นเอง
  • ตับอ่อนไม่สมบูรณ์ – เกี่ยวพันโดยตรงกับการนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ สาเหตุที่ตับอ่อนมีปัญหานั้นก็มีหลาย ๆ สาเหตุ ทั้ง อุบัติเหตุ การผ่าตัด การดื่มสุรา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ “ อายุ ” เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่าง ๆ ย่อมต้องเสี่ยมตามไปด้วย ไม่เว้นแม้กระทั่งตับอ่อน ตับอ่อนสำคัญมากในการสังเคราะห์ฮอร์โมนอินซูลินที่เป็นนำพาน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ เมื่อปริมาณอินซูลินลดลงก็จะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและนำไปสู่โรคเบาหวานได้
  • เชื้อไวรัสและยา – เชื้อไวรัสบางชนิดเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว มีผลข้างเคียงให้เกิดโรคเบาหวานได้ เช่น คางทูม หัดเยอรมัน… นอกจากนี้ ยา ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เช่น สเตอรอยด์ ที่มักจะใช้แบบผิด ๆ เพื่อรักษาอาการโรคปวดข้อ ปวดกระดูก เป็นต้น
  • การตั้งครรภ์ – เนื่องจากฮอร์โมนหลายชนิดที่รกสังเคราะห์ขึ้นมา มีผลในการยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน จึงทำให้คุณแม่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะกับคุณแม่ที่มียีนเบาหวานอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว ซึ่งภาวะเบาหวานแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์นั้น เป็นอัตรายอย่างมาก จึงต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

โรคเบาหวานสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes mellitus) ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกหลังจากมีอาการของภาวะน้ำตาลสูงเกิดในเลือดมาไม่นาน ผู้ป่วยมักมาด้วยน้ำตาลในเลือดสูงและเลือดเป็นกรด มีอาการหอบลึก คลื่นไส้อาเจียนและปวดท้อง ซึมลงได้ สาเหตุเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันไปทำลายเซลล์ของตับ จนทำให้ความสามารถในการสร้างอินซูลินเพื่อลดน้ำตาลในเลือดลดลง ผู้ป่วยจะมีลักษณะที่สำคัญ คืออายุน้อย และรูปร่างผอม ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องใช้ยาอินซูลินฉีดเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes mellitus) เป็นผลจากพยาธิปัจจัยที่สำคัญ 2 ประการ ร่วมกัน ได้แก่ ภาวะดื้ออินซูลิน และภาวะขาดอินซูลินสัมพัทธ์ ซึ่งหมายถึง ความบกพร่องในการหลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยภาวะดื้ออินซูลิน โดยที่ผู้ป่วยอาจมีภาวะใดภาวะหนึ่งเด่นกว่าอีกภาวะหนึ่งก็ได้  มักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป  และเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานทั้งหมด พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย  ลักษณะทางคลินิกที่สำคัญ ได้แก่ ผู้ป่วยมักอ้วน หรือถ้าไม่อ้วนก็มักมีไขมันที่ท้องมาก เบาหวานประเภทนี้รักษาได้ด้วยการรับประทานยาค่ะ

ส่วนที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ (other specitic type diabetes mellitus)

  1. สาเหตุจากความผิดปกติของพันธุกรรมของเซลล์ของตับอ่อน  ส่วนใหญ่พบในคนอายุน้อย และไม่มีอาการรุนแรง สามารถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
  2. สาเหตุจากความผิดปกติของพันธุกรรมจากการออกฤทธิ์ของอินซูลิน
  3. สาเหตุจากโรคตับอ่อน เช่น ตับอ่อนอักเสบ การผ่าตัดตับอ่อน หรือ มะเร็งตับ เป็นต้น
  4. สาเหตุจากโรคทางต่อมไร้ท่อ  เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้จะมีผลต่อการทำงานของเบต้าเซลล์หรือตับอ่อน และการควบคุมอินซูลินของร่างกาย
  5. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ( Gestational diabetes mellitus [GDM] ) ซึ่งในขณะตั้งครรภ์ พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงกว่าปกติ หรือความทนต่อกลูโคสผิดปกติ เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เพราะการตั้งครรภ์แต่ละครั้งต้องอาศัยฮอร์โมนช่วยในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และฮอร์โมนเหล่านี้มีฤทธิ์ในต้านการออกฤทธิ์ของอินซูลินทำให้เบต้าเซลล์ต้องทำงานมากกว่าปกติ เพื่อผลิตอินซูลินให้เพียงพอต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือด  ทำให้เกิดผลเสียต่อทารกในครรภ์และมารดา และมักจะพบว่าหญิงตั้งครรภ์มักเป็นโรคเบาหวานได้ง่าย ที่สำคัญนอกจากนี้การตั้งครรภ์ในแต่ละครั้งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายด้วย ส่งผลให้เกิดความเครียดทางด้านจิตใจ ผลที่ตามมาคือ การทำงานของอินซูลินที่ผิดปกติไปด้วย
สาเหตุ 3

อาการของผู้ป่วย โรคเบาหวาน

– ผู้ป่วย โรคเบาหวาน จะมีอาการปัสสาวะบ่อย ( และออกครั้งละมากๆ ) กระหายน้ำ ดื่มน้ำบ่อย หิวบ่อย หรือกินข้าวจุ อ่อนเพลีย บางคนอาจสังเกตว่าปัสสาวะมีมดขึ้น

– สำหรับคนที่เป็น โรคเบาหวาน ชนิดไม่พึ่งอินซูลิน อาการมักค่อยเป็นค่อยไป แบบเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีรูปร่างอ้วน หญิงบางคนอาจมาหาหมอด้วยอาการคันตามช่องคลอดหรือตกขาว ในรายที่เป็นไม่มาก อาจไม่มีอาการผิดปกติอย่างชัดเจน และตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจปัสสาวะหรือตรวจเลือดขณะที่ไปหาหมอด้วยโรคอื่น- หากเป็น โรคเบาหวาน ชนิดพึ่งอินซูลิน อาการต่างๆ มักเกิดขึ้นรวดเร็วร่วมกับน้ำหนักตัวที่ลดลงฮวบฮาบ ในช่วงระยะเวลาเพียงสัปดาห์หรือหนึ่งเดือน โดยในเด็กที่ป่วยเป็น โรคเบาหวาน บางคนอาจมีอาการปัสสาวะรดที่นอนตอนกลางคืน

– ผู้ป่วย โรคเบาหวาน บางคนมีอาการคันตามตัว เป็นฝีบ่อย หรือเป็นแผลเรื้อรังรักษาหายยาก

–  ผู้หญิงที่ป่วย โรคเบาหวาน บางคนอาจคลอดทารกที่มีน้ำหนักมากกว่าธรรมดา หรืออาจเป็นโรคครรภ์เป็นพิษ หรือคลอดทารกที่เสียชีวิตแล้วโดยไม่ทราบสาเหตุ

–  ในรายที่เป็น โรคเบาหวาน มานานโดยไม่ได้รับการรักษา อาจมาหาหมอด้วยภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ชาหรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้า ตามัวลงทุกที หรือต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยๆ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

 ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน  ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดการตายได้สูง และยังทำให้เกิดภาวะต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ

ภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลัน  ได้แก่

1.1. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ  (Hypoglycemia) โดยจะพบว่าน้ำตาลในเลือดมักต่ำกว่า 60  mg/dl  มักพบในผู้ที่กำลังรักษาโดยใช้อินซูลินหรือยาเม็ดในขณะที่ได้รับยาตามปกติ  แต่ในผู้ป่วยที่ออกกำลังกายมากผิดปกติหรือรับประทานอาหารไม่ได้หรือได้รับยาบางชนิด  ดื่มสุรามาก  ผู้ป่วยจะมีอาการตัวเย็น  ชีพจรเบาเร็ว  อ่อนเพลีย  เหงื่อออก  ใจสั่น  เป็นลม  วิงเวียน  มึนงง  ตาพร่ามัว  ถ้าไม่ได้รับน้ำตาลทดแทนจะมีระดับความรู้สึกตัวลดลงและหมดสติในที่สุด

1.2. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง  (Hyperglycemia) โดยจะพบใน 2 ลักษณะ คือ

1.2.1. ภาวะกรดในเลือดสูง (Diabetic  ketoacidosis : DKA) มักพบในผู้ป่วยเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน  หรือในรายที่มีอินซูลินน้อยมาก  มีการดื้อต่ออินซูลิน  ภาวะเครียด  มีไข้  ติดเชื้อ โดยจะมีอินซูลินน้อยมาก  และมีการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน  คอร์ติซอล  แคทีโคลามีน  ซึ่งออกฤทธิ์ต้านการทำงานของอินซูลินทำให้ร่างกายไม่สามารถใช้กลูโคสเป็นพลังงานได้ตามปกติ ร่างกายจึงมีการสลายไขมันออกมาใช้เป็นพลังงานทดแทน  จึงเกิดสารคีโตนมากขึ้น  ทำให้มีภาวะเป็นกรดในเลือดสูงขึ้น  ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบลึก  มีกลิ่นอะซิโตน  ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงมากกว่า 250 mg/dl  มีโซเดียมไบคาร์บอเนตต่ำกว่า 15 mEq/L และมีสารคีโตนในปัสสาวะ มีคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปัสสาวะมาก กระหายน้ำ ผิวหนังแห้ง  ปัสสาวะมากขึ้นเกิดการขาดน้ำถ้าไม่ได้รับการแก้ไขผู้ป่วยจะ ซึม  สับสน  หมดสติลงและอาจจะเสียชีวิตได้

1.2.2. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงโดยไม่มีกรด (Hyperglycemic Hyperosmolar Non-Ketotic Coma:HHNC) มักพบในผู้ป่วยชนิดไม่พึ่งอินซูลิน ร่างกายยังคงมีอินซูลินพอ ไม่เกิดการสลายของไขมันจนถึงขั้นภาวะกรดในเลือดสูง แต่มีอินซูลินไม่เพียงพอในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต  ทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูงมาก มีอาการซึม สับสน ไม่รู้สึกตัวและมีอาการขาดน้ำอย่างมาก เช่นผิวหนังแห้ง ตาลึก ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนเหมือนภาวะกรดในเลือดสูง แต่อาจพบน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 400 mg/dl และมีออสโมลาลิตีในพลาสมาสูงกว่า 315 มิลลิออสโม

ภาวะแทรกซ้อนแบบเรื้อรัง ได้แก่

ดูแลร่างกาย 1

2.1. ระบบประสาท (Diabetic neuropathy) จะพบว่ามีการเสื่อมของเส้นประสาทรับความรู้สึก เนื่องจากการทำลาย Axon ของเยื่อหุ้มเส้นประสาทและมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ประสาท ทำให้มีการคั่งของซอร์บิทอล (Sorbital) และฟรุกโตส เกิดเซลล์ประสาทเสื่อมสภาพ เกิดการอุดตันของหลอดเลือดเล็ก ๆ  ทำให้ขาดออกซิเจนและมีการส่งสัญญาณเข้าออกช้า  ได้แก่ เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อเท้า  เส้นประสาทอัตโนมัติที่ไปเลี้ยงต่อมเหงื่อและหลอดเลือดบริเวณเท้า  อาการที่พบคือ  การชาที่ปลายเท้าทั้งสองข้าง  ปวดแสบปวดร้อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง  การสูญเสียการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อที่ต้องใช้ในการทำงานอย่างละเอียด  นอกจากนี้จะพบพยาธิสภาพที่เส้นประสาทในส่วนของการควบคุมภายในร่างกาย โดยจะพบว่ามีอาการท้องเดิน การควบคุมการทำงานของต่อมเหงื่อผิดปกติ ท้องผูก ปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะหลังการถ่ายปัสสาวะ และมีความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์

2.2. ภาวะแทรกซ้อนทางตา (Diabetic retinopathy) จะพบว่ามีหลอดเลือดที่จอตาเสื่อม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดที่จอตา ชักนำให้เกิดตาบอดในผู้ป่วยผู้ใหญ่  นอกจากนี้ยังมีเลนส์ตาขุ่นเป็นต้อกระจก ในบางรายอาจเป็นต้อหิน ตาพร่ามัว  มองไม่เห็น

2.3. ระบบหัวใจและหลอดเลือด จากความผิดปกติของหลอดเลือดใหญ่และขนาดเล็กที่ทำให้หลอดเลือดเกิดการอุดตัน  โป่งพองหรือสร้างหลอดเลือดที่ไม่แข็งแรงขึ้นมาใหม่  จึงมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดโรคของหลอดเลือดได้แก่  ความดันโลหิตสูงขึ้น หลอดเลือดหัวใจตีบตัน  หลอดเลือดที่ไตผิดปกติและหลอดเลือดสมองผิดปกติโดยผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า  และเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติถึง 3 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่าความหนืดของเลือดเพิ่มขึ้น มีการทำงานของเกล็ดเลือดผิดปกติรวมทั้งมีภาวะเป็นลมเมื่อเปลี่ยนท่าเร็วๆ ได้ง่าย (Orthostatic hypotension)

2.4. ภาวะแทรกซ้อนทางไต (Diabetic nephropathy) พบว่ามีหลอดเลือดที่ไตเสื่อมลง มีเลือดไปเลี้ยงไตลดลง  การกรองลดลง มีการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ ผู้ป่วยมักมีอาการบวม  ถ้ามีอาการที่รุนแรงจะเกิดการคั่งของของเสีย  ชักนำให้เกิดภาวะไตวายในที่สุด และมีผลตามมาคือ มีความดันโลหิตสูงขึ้นจากไตวาย

2.5. กระดูก  พบว่าในผู้ป่วยชนิดไม่พึ่งอินซูลิน จะมีการหดรั้งของข้อได้ (Joint  Contracture)

2.6. ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system) พบว่าเม็ดเลือดขาว ชนิด Polymorphonuclear ทำหน้าที่ไม่ได้ตามปกติ  ความสามารถในการจับกินเชื้อโรคลดลง มีการติดเชื้อได้ง่าย  นอกจากนี้การถ่ายออกซิเจนของเม็ดเลือดแดงไปสู่เนื้อเยื่อลดลงจึงเกิดการขาดออกซิเจนได้ง่าย

วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานได้อย่างไร

วิธีที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน มีเพียงวิธีเดียว คือการเจาะหาน้ำตาลในเลือด สำหรับคนปรกติแนะนำให้คนที่มีอายุมากกว่า 45 ปีควรจะเจาะเลือดทุกปีถ้าหากปกติก็ให้เจาะทุก 3 ปี หากคุณมีปัจจัยเสี่ยง ก็ควรที่เจาะเร็วขึ้นและบ่อยขึ้น คนปรกติจะมีค่าน้ำตาลในเลือด อยู่ระหว่า 80-100 มิลิกรัม% การวินิจฉัยโรคเบาหวานเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 126 มิลิกรัม% สำหรับผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระ 100-125 มิลิกรัม% เราเรียก Impaired fasting glucose [IFG] คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานจำเป็นต้องคุมอาการ รักษาน้ำหนัก ออกกำลังกาย สำหรับการตรวจปัสสาวะไม่แนะนำเพราะเราจะตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 180 มิลิกรัม% ซึ่งเป็นเบาหวานไปเรียบร้อยแล้ว การตรวจเลือดเราสามารถตรวจได้หลายวิธีดังนี้

เกณฑ์ในการวินิจฉัยเบาหวานมีดังนี้

  1. การวัดระดับกลูโคสในพลาสม่าหลังการอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ( Fasting plasma glucose : FPG ) แนะนำให้ใช้วิธีซึ่งสะดวกและแม่นยำ ให้การวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานเมื่อระดับน้ำตาลในเลือด ( FPG ) สูงกว่า 126 มก.% ( 7.0 mmol/L ) สองครั้ง
  2. การวัดความทนทานน้ำตาลกลูโคส ( Oral glucose tolerance test : OGTT) กรณีสงสัยว่าจะเป็นเบาหวาน แต่ระดับพลาสม่ากลูโคสก่อนรับประทานอาหารไม่ถึง 126 มก.% ให้ตรวจโดยการดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม เจาะเลือดก่อนดื่ม และ 2 ชั่วโมงหลังดื่ม วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานเมื่อระดับพลาสม่ากลูโคสที่ 2 ชั่วโมง สูงกว่า  200 มก.% ขึ้นไป หากอยู่ระหว่าง 140-199 มก.%ถือว่าความทนทานต่อน้ำตาลบกพร่อง ( Impaired glucose tolerance test) หากต่ำกว่า 140 มก% ถือว่าปกติ
  3. การสุ่มวัดระดับกลูโคสในพลาสมา ( Random plasma glucose : RPG ) โดยไม่กำหนดเวลาอดอาหาร ใช้ค่ามากกว่า 200 มก.%และมีอาการของโรคเบาหวาน เนื่องจากมีความแม่นยำต่ำจึงไม่นิยมหาก หากพบว่าค่ามากกว่า 200 มก% จะต้องนัดมาเจาะน้ำตาลก่อนอาหาร หรือทำการตรวจ การวัดความทนทานน้ำตาลกลูโคส OGTT อาจจะตรวจในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคเบาหวานมากจำเป็นต้องรีบให้การรักษา
  4. การใช้ระดับโปรตีน ไกลโคไซเลต ได้แก่ Glycosylate hemoglobin : HbA1c หากมีค่ามากกว่า 6.5 ให้วินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
  5. ในกรณีที่ค่า  HbA1c > 6.5 สองครั้งแต่ค่าน้ำตาลก่อนอาหาร FBS < 126 mg%  หรือค่าน้ำตาล FBS > 126 แต่ค่า HbA1c < 6.5 ทั้งสองกรณีให้วินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน

สำหรับการตรวจหากลูโคสในปัสสาวะไม่นิยมเพราะผิดพลาดได้ง่าย

การรักษาโรคเบาหวาน

ผู้ป่วยมีส่วนสำคัญในการรักษา มากกว่าแพทย์ การดูแลตนเองที่ถูกต้อง จะช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีและไม่มีโรคแทรกซ้อน

–  ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติให้มากที่สุดตลอดเวลาซึ่งการที่จะทำเช่นนั้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างมากจากผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย โดยการควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด รับประทานยาตามสั่ง

–  ออกกำลังกายตามสมควร ลดน้ำหนัก หากยาไม่ได้ผล ก็จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน หากมีความดัน โลหิตสูงก็จำเป็นที่จำต้องลดความดันโลหิตให้น้อยกว่า   หรือ ใกล้เคียง 130/80 มม.ปรอท ทั้งนี้ต้อง ไม่มีผลแทรกซ้อนจากยาลดความดันโลหิตด้วย จะสามารถป้องกันหรือชะลอภาวะไตวายได้

–  ลดไขมันคอเลสเทอรอลในเลือด โดยใช้ค่า LDL – Cholesterol เป็นเกณฑ์ให้ LDL – C น้อย กว่า 100 มก.ดล. เทียบเท่ากับผู้ที่เป็นโรคหัวใจเนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานแทบทุกรายมีการตีบตันของ หลอดเลือดหัวใจซ่อนอยู่การลดระดับไขมันในเลือดลง (Cholesterol) จะช่วยลดปัญหา แทรกซ้อน ทางหัวใจ ปัจจุบันยาที่ใช้ลดไขมันคอเลสเทอรอลได้ดีมากที่สุด คือ ยากลุ่ม statin

–  แนะนำให้ผู้ป่วยพบจักษุแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อป้องกันตาบอดจากเบาหวานขึ้นตา จอประสาทตาเสื่อม การดูแลเท้า ผิวหนัง  (โอกาสเกิดแผลที่เท้า และทำให้ต้องตัดเท้าพบได้บ่อยๆ).

อาหารที่ผู้เป็น เบาหวาน ควรบริโภคเพียงเล็กน้อยและนานๆ ครั้ง

อาหาร 1

1. อาหารที่มีน้ำมันมาก เช่น ปาท่องโก๋ ข้าวเกรียบ
2. อาหารที่ใส่กะทิ เช่น แกงกะทิ ขนมที่ใส่กะทิ
3. เนื้อสัตว์ที่มีมันมาก เช่น ขาหมู หมูหัน ข้าวมันไก่ตอน หมูสามชั้น
4. ขนมอบที่มีเนยหรือไขมันมาก เช่น เค้ก พาย
5. เครื่องในสัตว์ทุกชนิด ไข่แดง
6. อาหารที่มีรสเค็มจัด และของหมักดอง
7. ขนมหวานต่าง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมหม้อแกง
8. ผลไม้ตากแห้ง เช่น กล้วยตาก ลูกเกด ลูกพลับแห้ง
9. ผลไม้บรรจุกระป๋อง ผลไม้ในน้ำเชื่อม เช่น ลิ้นจี่กระป๋อง
10. ผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไย ขนุน น้อยหน่า ละมุด
11. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ไวน์ พั้นซ์

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
น้ำหวานต่างๆ ได้แก่ น้ำหวานเข้มข้น น้ำผลไม้ ผสมน้ำตาล น้ำอัดลม เครื่องดื่มผสมน้ำตาล อาหารที่มีน้ำตาลมาก เช่น แยม เยลลี่ ลูกกวาด ช็อกโกแลต ผลไม้กวน ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้เชื่อม นมข้นหวาน

ผู้เป็นเบาหวาน ควรรับประทานอาหารกี่มื้อ
ผู้เป็นเบาหวานมักเข้าใจผิดว่า การรักประทานอาหารเพียง 1 หรือ 2 มื้อจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ข้อควรปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อหลัก คือ เช้า กลางวัน เย็น และรับประทานเมื่อถึงเวลา ไม่ใช่เมื่อหิว (เพราะถ้าหิวจะทำให้รับประทานมาก)

ผู้เป็นเบาหวานบางรายที่ฉีดอินซูลิน หรือมีประวัติน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยๆ อาจจำเป็นต้องรับประทานอาหารมากกว่า 3 มื้อ โดยอาจแบ่งมื้ออาหารออกเป็น 4-6 มื้อ

การประเมินผลการควบคุมโรคเบาหวาน
การควบคุมเบาหวานที่เหมาะสมคือ  ต้องมีการประเมินว่าระดับน้ำตาลในเลือดนั้นอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งควรมีการประเมินดังต่อไปนี้
1. การวัดระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารเช้า (FBS) เป็นการให้ผู้ป่วยงดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืน 8 ชั่วโมงก่อนมาเจาะเลือด เพื่อหาระดับน้ำตาลในเวลาเช้า แต่จะพบว่าระดับน้ำตาลจะขึ้นลงเร็วตามอาหารที่รับประทานเข้าไป ทำให้เปรียบเทียบผลการควบคุมเบาหวานได้ยาก
2. การวัดระดับฮีโมโกลบินที่มีน้ำตาลเกาะ (Hemoglobin A1C) จะสามารถบอกถึงระดับของน้ำตาลก่อนการตรวจครั้งนี้ถึง 6-8 สัปดาห์
3. การประเมินภาวะโภชนาการควรมีการประเมินภาวะโภชนาการของผู้ป่วยควบคู่ไปด้วย เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่นั้นไม่สามารถที่จะควบคุมน้ำหนักตัวได้  การประเมินนี้เป็นการพิจารณาดูว่าน้ำหนักตัวของผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่  ซึ่งเป็นการประเมินที่แสดงถึงภาวะโภชนาการทั้งหมดที่ผ่านมาในอดีต การประเมินลักษณะนี้สามารถประเมินได้จาก การวัดสัดส่วนของร่างกาย  มีวิธีการประเมินที่หลากหลาย

สนใจการตรวจสุขภาพสอบถามได้ที่ healthlabclinic

ติดต่อสอบถาม หรือ นัดหมายได้ที่

มหาชัย ทีแอลซี สาขา มหาชัย
เฮลท์แลป สาขา อ่อนนุช
เฮลท์แลป สาขา หัวหิน
นุชรัตน์เฮลท์แลป สาขา หัวนา

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความยอดนิยม

มหาชัย ทีแอลซี สาขา มหาชัย
เฮลท์แลป สาขา อ่อนนุช
เฮลท์แลป สาขา หัวหิน
นุชรัตน์เฮลท์แลป สาขา หัวนา
เลือกช่องทางนัดหมาย
MAHACHAI TLC MAHACHAI BRANCH
HEALTH LAB HUA HIN BRANCH
NUTRAT HEALTH LAB (HUA NA – SOI 112)
Appointment
HEALTH LAB ON NUT BRANCH

You cannot copy content of this page