เคยสงสัยกันไหม ??? ไข้หวัดจากการติดเชื้อ แบคทีเรีย กับ ไวรัส แตกต่างกันอย่างไร
แม้ว่า แบคทีเรีย กับ ไวรัส จะทำให้คุณไม่สบายได้เหมือนกัน ซึ่งการติดเชื้อทั้ง 2 ชนิดเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ที่แพร่กระจายผ่านการไอ จาม จูบ หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ รวมถึงการสัมผัสวัตถุ รับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อที่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อและโรคต่าง ๆ ได้ แต่แบคทีเรียกับไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะหลาย ๆ อย่างแตกต่างกันมาก วันนี้… เราจะบอกถึง “ความแตกต่างระหว่าง เชื้อแบคทีเรีย และ เชื้อไวรัส” ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
ไวรัส
เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีรูปร่างหลากหลายและมีขนาดเล็กมาก ไวรัสมีโปรตีนเป็นส่วนประกอบหลักที่เคลือบอยู่ชั้นผิวภายนอกและเป็นศูนย์กลางของสารพันธุกรรมอย่างดีเอ็นเอ (DNA) หรืออาร์เอ็นเอ (RNA) ของไวรัส โดยไวรัสจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอย่างคน สัตว์ หรือพืช เพื่อเพิ่มจำนวนขึ้น
การติดเชื้อ ไวรัสจะรุกรานเข้าสู่เซลล์ของสิ่งมีชีวิตเพื่อขยายจำนวน ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์ที่มีเชื้อไวรัส สร้างความเสียหายและส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ แต่เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย อาจไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเสมอไป เพราะระบบภูมิคุ้มกันจะเป็นด่านแรกที่ช่วยกำจัดและทำลายเชื้อไวรัส เช่น HIV, ไวรัสตับอักเสบ บี, ไข้หวัดใหญ่, ไข้เลือดออก หรือเชื้อไวรัสที่กำลังฮิตอยู่ตอนนี้ คือ เชื้อโคโรนาไวรัส
การรักษา เป็นการดูแลรักษาตามอาการ เพราะยาฆ่าไวรัสไม่มี ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำก็อาจจำเป็นต้องกินยาแอนติไบโอติค ทั้งนี้อยู่ในความดูแลของแพทย์จะดีที่สุดนะคะ
แบคทีเรีย
เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว มีผนังแข็งด้านนอกสุดและถัดเข้ามาเป็นเยื่อหุ้มบาง ๆ ล้อมรอบของเหลวภายในเซลล์ไว้ สามารถเพิ่มจำนวนได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต และอยู่รอดได้ในสถานที่ที่แตกต่างกันไป เช่น สถานที่ที่ร้อนหรือเย็นจัด หรือในร่างกายของมนุษย์ซึ่งมีทั้งอยู่แล้วก่อให้เกิดโรค และไม่เกิดโรค
การติดเชื้อ แบคทีเรียจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดพิษซึ่งทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายได้ แม้แบคทีเรียส่วนใหญ่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ แต่แบคทีเรียบางส่วนก็อาจทำให้มีอาการเจ็บป่วยและเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคได้ เช่น โรคปอดบวม, วัณโรค, อหิวาตกโรค, กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, ซิฟิลิส, หนองในแท้
การรักษา หลังจากติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถทานยาแอนติไบโอติคได้ตามความเหมาะสม แต่ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์นะคะ อย่ากินเองสุ่มสี่สุ่มห้า ดื้อยาขึ้นมาจะลำบาก เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือนนะจ๊ะ
สำหรับการป้องกันการติดเชื้อและดูแลตัวเองที่ดีที่สุดไม่ว่าจะเป็นเชื้ออะไร คือ การดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ เพื่อให้ร่างกายของเราสร้างภูมิต้านทานที่แข็งแรงเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค
…บางคนบอกว่า พูดน่ะมันง่าย แต่(เหมือน)จะทำยาก แต่ถ้าป้องกันไม่ทัน ก็กินยาตามคุณหมอหรือเภสัชกรสั่งแล้ว
อย่าลืมดูแลสุขภาพกันนะคะ