PSA (Prostate Specific Antigen) เป็นโปรตีนที่สร้างจากเซลล์ใน ต่อมลูกหมาก จากทั้ง เซลล์ปกติ และ เซลล์มะเร็ง ซึ่งค่า PSA สูง ไม่ได้แปลว่าคุณจะเป็น มะเร็งต่อมลูกหมาก เสมอไป
ทั้งนี้การที่ค่า PSA อยู่ในระดับปกติ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะรอดพ้นจาก มะเร็งต่อมลูกหมาก เสมอไป
Q : แล้วทำไมถึงยังมีการตรวจ PSA อยู่ล่ะ ?
A : ก็เพราะว่าในตอนนี้ การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นวิธีที่ง่าย รวดเร็ว สะดวก มากกว่าการต้องตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจหาเซลล์มะเร็ง ซึ่งคงไม่มีใครที่อยากจะถูกตัด จิ้ม ที่ต่อมลูกหมาก (ละไว้ในกรณีที่ต้องตัดเพื่อวินิจฉัยนะคะ)
นอกจากนี้การตรวจ PSA ก็ยังมีความถูกต้องแม่นยำไม่น้อย แต่ทั้งนี้ก็ต้องใช้ผลตรวจประกอบกับอาการที่มีด้วย
Q : เราลองมาดูว่าอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมีอะไรบ้าง
A :
1. การปัสสาวะที่ผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อยในทั้งกลางวันและกลางคืน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะไม่พุ่ง ต้องเบ่งปัสสาวะมากกว่าปกติ ปัสสาวะแสบ ขัด หรือไม่สุด
2. มีเลือดปนในปัสสาวะ หรืออสุจิ ซึ่งสังเกตได้ว่าปัสสาวะมีสีแดงระเรื่อจนถึงแดงเข้ม
3. อาการของการแพร่กระจายมะเร็ง อาจจะมีอาการปวดกระดูกสันหลัง สะโพก หรือกระดูกเชิงกราน
Q : การตรวจ PSA นั้นเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการข้างต้น รวมถึงปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นมีอะไรบ้าง
A :
1. อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น มากกว่า 45 ปีขึ้นไป โอกาสในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากก็เพิ่มมากขึ้นตาม
2. กรรมพันธุ์ สำหรับผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากก็ย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป
3. การรับประทานอาหาร เช่น การบริโภคเนื้อแดงหรืออาหารที่มีไขมันสูง เป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น
4. เชื้อชาติ ผู้ชายชาวอเมริกัน-แอฟริกันนั้น มีอุบัติการณ์ในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากสูงกว่าคนในแถบเอเชียอย่างเรา
ไม่ต้องสงสัยหากคุณมีเพื่อนชายชาวต่างชาติที่อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป จะตรวจเช็คค่า PSA ทุกๆ ปี หรือในคนที่มีความเสี่ยงมากกว่า 2 อย่างขึ้นไป อาจจะมีการตรวจติดตามบ่อยขึ้น ส่วนผู้ที่มีผลตรวจสูงผิดปกติ ก็จะมีการตรวจติดตามผลปีละ 2-3 ครั้งต่อปี
Q : สิ่งที่ควรรู้ก่อนพิจารณาว่าคุณจำเป็นต้องตรวจ PSA หรือไม่
A :
1. ผู้ที่เข้ารับการตรวจ ควรมีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อยหนึ่งข้อด้านบนหรือมีอาการที่สงสัยไปสู่โรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ เช่น ปัสสาวะแสบขัด มีปัญหาทางเดินปัสสาวะมาก่อน เป็นต้น
2. ค่า PSA สูง ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเสมอไป ค่า PSA ที่สูงอาจเกิดได้จาก การอักเสบของต่อมลูกหมาก (prostatitis) ต่อมลูกหมากโต (benign prostatic hypertrophy) หรือ มะเร็งต่อมลูกหมาก (prostate cancer) ก็ได้
3. สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงแล้ว การตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มแรกได้ ช่วยให้การรักษาง่ายไปด้วย
4. กรณีที่การเติบโตของมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นไปอย่างช้าๆ ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากบางคนก็เสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นก่อนที่มะเร็งจะลุกลามแพร่กระจายไป
5.กรณีที่มะเร็งเติบโตอย่างรวดเร็ว การตรวจพบก่อนก็อาจไม่ได้ช่วยอะไร ผู้ป่วยบางคนก็เสียชีวิตไม่ว่าจะพบเมื่อไหร่หรือรักษาดีแค่ไหนก็ตาม
……………………………..
ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็ยังคงยืนยันว่าการตรวจ PSA สามารถช่วยให้ตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากเบื้องต้นได้ แต่นั่นแทบไม่มีความหมายเลยหากคุณละเลยการตรวจสุขภาพเบื้องต้นพื้นฐานทั่วไป ทั้งยังทำให้คุณต้องเจอกับปัญหาค่าใช้จ่ายบานปลายเมื่อคุณตรวจพบโรคในระยะลุกลามและยากต่อการรักษาแล้ว การดูแลร่างกายและตรวจสุขภาพสม่ำเสมอสามารถช่วยให้คุณลดค่าใช้จ่ายบานปลายในอนาคตได้
จากข้อมูลข้างต้น น่าจะช่วยให้คุณพิจารณาได้ว่าการตรวจ PSA จำเป็นต่อคุณหรือไม่นะคะ