fbpx
กาฬโรค-comeback

กาฬโรค จะกลับมาอีกครั้ง หรือไม่?

ข่าวที่ทำให้วงการสาธารณสุขโลกสั่นสะเทือนอีกครั้ง คงหนีไม่พ้นข่าวที่พบผู้ติดเชื้อ กาฬโรค ต่อมน้ำเหลืองในประเทศจีน ในเขตปกครองตัวเองมองโกลเลีย ท่ามกลางกระแส โควิด-19 ที่ยังไม่หายไปไหน แบบนี้เค้าเรียก ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก (รึเปล่า)

ก็เหมือนจะเคราะห์ซ้ำ กรรมซัด แต่ยังถือว่าโลกเรายังมีบุญอยู่เยอะ เพราะว่า กาฬโรค มียารักษา ด้วยความเป็นโรคที่เก่าแก่ โบราณ พบมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 จนเรารู้จักมันดีพอที่จะหาวิธีจัดการกับมันได้ ไม่เหมือนโควิด-19

แต่มันก็ยังมีปัญหาอยู่ เป็นๆ หายๆ โผล่ตรงนู้นบ้าง ตรงนี้บ้าง บางที่กลายเป็นโรคประจำถิ่นไปซะงั้น มาพร้อมฝน ประชากรหนูเพิ่มจำนวนขึ้น อย่างที่เกาะมาดากัสการ์ บางมณฑลของประเทศจีน และเนื่องจากการดำเนินโรคค่อนข้างเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีก็ทำให้เสียชีวิตได้ง่ายๆ

กาฬโรค

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักเชื้อนี้ มาทำความรู้จักกับมันซักหน่อย พอเป็นความรู้นะคะ

  • กาฬโรคเกิดขึ้นครั้งแรกในศตวรรษที่ 6 และรุนแรงมากในศตวรรษที่ 14-17 ทำให้ประชากรยุโรปเสียชีวิตมากถึง  1 ใน 3
  • ในประวัติศาสตร์ การระบาดใหญ่ของโรคนี้ถูกเรียกว่า “กาฬมรณะ หรือ ความตายสีดำ” (Black Death) หมายถึง เนื้อเยื่อตายและเน่าเปื่อย เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า ตามอาการที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคนี้ ตรงกับชื่อภาษาไทย “กาฬโรค” คือโรคดำหรือรอยโรคสีดำ บางคนอาจจะได้ยินชื่อ “ไข้ดำ”
  • เชื้อที่ก่อโรคเป็นแบคทีเรียที่ชื่อว่า Yersinia pestis ตั้งชื่อตามแพทย์ชาวฝรั่งเศสชื่อ Alexandre Yersin ที่เป็นคนค้นพบในปี 1894
  • เชื้อลุกลามไปตามเส้นทางการเดินเรือรวมถึงไทย ซึ่งไม่พบโรคนี้มากว่า 70 ปีแล้ว
  • กว่าจะพบยารักษาก็อีก 40 ปีต่อมา ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะ เช่น สเตรปโตมัยซิน คลอแรมเฟนิคอล เตตร้าไซคลิน แต่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่รักษา
  • กาฬโรคเป็น 1 ใน 13 โรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ค.ศ. 2015 ถ้ามีการพบผู้ป่วยต้องรายงานกรมควบคุมโรคภายใน 3 ชม. แยกผู้ป่วยเพื่อกักกัน ป้องกันการแพร่เชื้อโรค จนครบระยะฟักตัวคือ 6 วัน

การติดต่อ

เป็นการติดจากสัตว์สู่คน แหล่งรังโรคคือสัตว์ฟันแทะ โดยมีหมัดหนูเป็นพาหะนำโรค

  • หมัดหนูมากัดคนแล้วปล่อยเชื้อกาฬโรคเข้าทางบาดแผล หรือทางผิวหนังที่ถลอกจากการเกาบริเวณที่ถูกหมัดหนูกัด
  • ติดต่อโดยการสูดหายใจเอาละอองเสมหะที่มีเชื้อของผู้ป่วยที่ไอ จาม หรือจากสัตว์ที่มีเชื้อโรค เช่น แมว และหายใจเอาเชื้อเข้าไปทางปาก/จมูก
  • ถ้าติดเชื้อทางระบบหายใจจะทำให้เกิดโรคกาฬโรคปอดบวม แต่การเกิดกาฬโรคปอดบวมเริ่มจากการถูกหมัดหนูกัดและเชื้อเข้าไปเจริญเติบโตภายในปอดการติดจากคนสู่คนโดยการหายใจ เกิดจากการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรคปอดบวม

อาการของโรค

กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง : ระยะฟักตัวประมาณ 2-6 วันจะเริ่มมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว หลังจากนั้นจะพบว่ามีต่อมน้ำเหลืองใกล้กับบริเวณที่ถูกกัด บวมโต เจ็บ ถ้าไม่ได้รักษาเชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือด เกิดภาวการณ์แข็งตัวของเลือดผิดปกติ ขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายในล้มเหลว ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้ากลายเป็น “สีดำ” เสียชีวิตภายใน 3-5 วัน

กาฬโรคปอด : ระยะฟักตัวประมาณ 2-4 วัน ทำให้เกิดปอดอักเสบ เกิดได้ 2 ทางคือ เริ่มจากกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองแล้วลามไปที่ปอด หรือสูดเอาเชื้อเข้าไปในปอดโดยตรง มีอาการปอดบวม ไอเป็นน้ำ เสมหะไม่เหนียว ต่อมาจะมีเลือดปน อ่อนเพลีย มีไข้ หากไม่ได้รับการรักษา จะเสียชีวิตเร็วมากภายใน 1-3 วัน

วิธีป้องกัน

  • ต้องรู้ก่อนว่า ไม่มีวัคซีนป้องกัน
  • ไม่ให้หมัดกัด ไม่สัมผัสสัตว์หรือผู้ป่วย
  • สวมใส่หน้ากากอนามัย สวมถุงมือถ้าต้องสัมผัสผู้ป่วย
  • ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยด้วยการแยกผู้ป่วยกักกันโรคให้ครบระยะฟักตัว ประมาณ 6 วัน

รู้แบบนี้แล้ว ป้องกันตัวเองไว้ก่อนดีกว่านะคะ ไม่แน่ไม่นอนว่ามันจะเข้ามาระบาดในไทยอีกหรือเปล่า หรือผู้ที่ต้องเดินทางไปในประเทศที่มีความเสี่ยงก็ระมัดระวังกันซักนิดนะคะ

ติดต่อสอบถาม หรือ นัดหมายได้ที่

มหาชัย ทีแอลซี สาขา มหาชัย
เฮลท์แลป สาขา อ่อนนุช
เฮลท์แลป สาขา หัวหิน
นุชรัตน์เฮลท์แลป สาขา หัวนา

You cannot copy content of this page