เราได้พูดถึงสาเหตุของการเกิดโรค ภูมิแพ้ และการแบ่งชนิดของการเกิดโรค ภูมิแพ้ ไปแล้ว ซึ่งการแบ่งชนิดของการเกิดภูมิแพ้นั้นแบ่งได้ตามสาเหตุของการเกิดโรค ฉบับนี้เราก็จะมาปิดท้ายกันในส่วนของวิธีการป้องกันตัวเองจากภูมิแพ้ และแนวทางการรักษา ซึ่งวิธีการป้องและวิธีการรักษาโรคภูมิแพ้นั้นก็แบ่งได้ตามสาเหตุของการเกิดโรคเช่นกันครับ
ภูมิแพ้ ดูแล และป้องกันอย่างไร
วิธีการป้องกันดูแลผู้ป่วยโรค ภูมิแพ้ และแนวทางการรักษานั้น มีหลักการทั่วไปคือ
- ควบคุมสิ่งแวดล้อมและสารก่อภูมิแพ้ การควบคุมสิ่งแวดล้อมและสารก่อภูมิแพ้ได้มีการสำรวจผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทยพบว่า มักจะแพ้การกระตุ้นจาก “ ไรฝุ่น ” ควรจัดห้องนอนให้โล่ง ไม่ควรมี พรม ตุ๊กตาและผ้าม่าน ซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง คลุมที่นอน หมอน หมอนข้าง ด้วยผ้าใยสังเคราะห์ชนิดพิเศษซึ่งสามารถกันไม่ให้ตัวไรฝุ่นลอดผ่านขึ้นมาได้
– แมลงสาบ ขจัดแหล่งอาหารของแมลงสาบ โดยทิ้งขยะและเศษอาหารในถุงหรือถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
– สัตว์เลี้ยง ไม่ควรเลี้ยงสัตว์มีขน เช่น สุนัข แมว นก กระต่าย
– เกสรดอกไม้ ควรตัดหญ้าและวัชพืชบริเวณบ้านบ่อยๆ เพื่อลดจำนวนเกสร ไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สด หรือแห้ง ไว้ในบ้าน ในช่วงที่มีละอองเกสร ทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเช้า เพราะละอองเกสรจะปลิวมากช่วงตอนเย็น
นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสารระคายเคืองต่างๆ ที่อาจทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบ ได้แก่ ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย กลิ่นฉุน น้ำหอม ควันธูป และฝุ่นละอองจากแหล่งต่างๆ การออกกำลังกายสม่ำเสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็มีความสำคัญ โดยพบว่าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ มักมีอาการแย่ลงเมื่อมีภาวะเครียด และอดนอน ในกรณีมีอาการโรคหอบหืดกำเริบจากการออกกำลังกาย ควรพ่นยาขยายหลอดลมก่อนการออกกำลังกาย 15 – 30 นาทีจะช่วยป้องกันการหอบระหว่างออกกำลังกายได้
หากเป็นไปได้แนะนำให้ทำการทดสอบผิวหนัง (Skin test) ในผู้เป็นโรคภูมิแพ้ทุกคนได้ที่ห้องปฏิบัติการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าแพ้อะไร จะได้หลีกเลี่ยงได้ถูกต้อง
- การให้การรักษาด้วยยา เราอาจแบ่งการรักษาโรคภูมิแพ้ออกได้เป็น 3 ระดับเพื่อความเข้าใจง่ายๆ ดังนี้ ยาบรรเทาอาการต่างๆ เช่นยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) และยาขยายหลอดลม ยาต้านการอักเสบ เช่น ยาสเตียรอยด์ พ่นจมูก หรือสูดทางปาก การใช้วัคซีนภูมิแพ้ เป็นการรักษาโดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกายเริ่มจากปริมาณน้อยๆ และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆจนร่างกายเกิดความชินต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น ซึ่งผู้ป่วยที่ควรรับการรักษาโดยวิธีฉีดวัคซีนภูมิแพ้คือ ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีผลข้างเคียงจากยา โดยก่อนจะเลือกรักษาด้วยการฉีดวัคซีน จำเป็นต้องทราบก่อนว่าแพ้อะไร เพื่อจะได้นำสารที่แพ้มาฉีดเป็นวัคซีน ซึ่งการรักษาโดยวิธีนี้ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และผู้ป่วยต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์แนะนำอย่างน้อย 3-5 ปี
ผมหวังว่าคงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่เป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาล อย่าลืมรักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ ฉบับหน้าเจอกับเรื่องใหม่ ส่วนเป็นเรื่องอะไรนั้นมาติดตามกันครับ ^^