สวัสดีครับ ทุกท่านที่ติดตามบทความความรู้จากเรา วันนี้ผมมีเรื่องน่าสนใจ (ส่วนตัวแล้วคิดว่าน่าสนใจมากๆ) สำหรับคนที่ทานยาลดไขมันกันอยู่ ต้องบอกก่อนว่านี้เป็นบทความจาก Blog ของนายแพทย์ท่านหนึ่งที่ผมติดตามหาข้อมูลความรู้อยู่เรื่อยๆ มาฝากทุกท่าน นั้นก็คือบทความของ “นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์” แล้วก็มีบทความหนึ่งที่ท่านเขียนตอบคนไข้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับ กล้ามเนื้อสลายตัวจากยาลดไขมัน (rhabdomyolysis) ผมจึงอยากนำส่วนหนึ่งที่ท่านเขียนเกี่ยวการปฏิบัติตัวของคนไข้ที่ทานยาลดไขมันมาฝากกันลองติดตามกันดูครับ
ท่านผู้อ่านท่านใดที่ทานยาลดไขมันอยู่ ไม่ว่ายี่ห้อไหน ไม่ว่าขนาดเท่าไหร่ ทำอย่างไรจึงจะป้องกันการตายหรือไตวายจากกล้ามเนื้อสลายตัวได้ ผม(นพ.สันต์) แนะนำดังนี้
1. อย่ากินยาถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมได้เขียนถึงมาตรฐานใหม่ของ AHA/ACC ในการเลือกคนไข้เพื่อให้ยาลดไขมัน ว่าคนที่จำเป็นต้องกินยาลดไขมันมีสี่กลุ่มเท่านั้น คือ
- คนที่มีอาการของโรคหัวใจหลอดเลือดแล้ว เช่นมีอาการเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ หรือเจ็บหน้าอกแล้ว
- คนเป็นโรคเบาหวานประเภทสองเรียบร้อยแล้ว
- คนที่มีไขมันเลว (LDL) สูงกว่า 190 มก./ดล.
- คนที่มีคะแนนความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดระดับรุนแรงในสิบปีข้างหน้ามากเกิน7.5% ขึ้นไป ความเสี่ยงที่ว่านี้คำนวณโดยวิธีใหม่ที่เรียกว่า Pooled Cohort Equations ซึ่งรายละเอียดท่านอ่านเอาได้จากบทความที่ผมเพิ่งเขียนไปนี้
2. อย่าเพิ่มขนาดของยาลดไขมันโดยไม่มีข้อบ่งชี้ เพราะอุบัติการณ์เกิดกล้ามเนื้อสลายตัวแปรผันตามขนาดยาที่ใช้ การเพิ่มขนาดยาลดไขมันต้องทำโดยแพทย์ ซึ่งปกติท่านจะประเมินผลข้างเคียงของยาในขนาดเดิมอย่างละเอียดก่อนเพิ่มยา มีคนไข้ของผมคนหนึ่งเดิมกินยาatorvastatin (Lipitor) ซึ่งเป็นยาฝรั่งทำ (original) ต่อมาหายา Lipitor ยากจึงไปเอายาatorvastatin เหมือนกันแต่เป็นแบบอัดเม็ดในเมืองไทย (local made) ยี่ห้อหนึ่งมากิน แล้วเภสัชกรที่จ่ายยาให้บอกว่าให้เพิ่มขนาดไปหนึ่งเท่าตัว เพราะยา local made มีฤทธิอ่อนกว่ายา original หนึ่งเท่า ผลปรากฏว่ากลับมาอีกทีเอ็นไซม์ของกล้ามเนื้อขึ้นไปสองพันกว่า นี่เป็นตัวอย่างของการเพิ่มขนาดยาโดยไม่มีข้อบ่งชี้ และเภสัชกรท่านนั้นก็เข้าใจชีวิตผิดไปจังเบอร์ ยาเป็นสารเคมี สารเคมีตัวเดียวกัน ไม่ว่าจะอัดเม็ดแบบ original หรือแบบ localก็คือสารเคมีตัวเดียวกัน ย่อมมีฤทธิ์เหมือนกันทุกประการ จะไปมีฤทธิ์อ่อนแก่กว่ากันได้อย่างไร เหมือนคุณไปซื้อไข่ไก่ตราซีพีกับไข่ไก่ที่ชาวบ้านเลี้ยง ถ้าเทียบน้ำหนักว่าเท่ากันแล้วคุณสมบัติอื่นมันจะไปต่างกันตรงไหน
3. เมื่อกินยากลดไขมัน ต้องขยันดื่มน้ำ เพราะสิ่งแรกที่เรากลัวเมื่อเกิดกล้ามเนื้ออักเสบหรือกล้ามเนื้อสลายตัวก็คือกลัวไตพัง ซึ่งมันมักจะพังก่อนที่จะมีอาการอื่นให้เราเห็น วิธีป้องกันหากกินยาแล้วมีอย่างเดียวคือดื่มน้ำให้มากๆเข้าไว้ให้เป็นนิสัย อย่าอดน้ำเพื่อจะได้ไม่ต้องฉี่บ่อย วิธีนั้นอันตรายมากหากกินยาลดไขมันอยู่ด้วย ต้องดื่มน้ำแทบจะทุกชั่วโมงที่ตื่นอยู่ มีน้ำไว้ใกล้ๆทุกหนทุกแห่ง
4. เมื่อกินยาลดไขมันต้องเฝ้าระวังอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และรายงานให้แพทย์ทราบทันทีถ้ามีอาการขึ้นมา ไม่ต้องรอให้ถึงรอบนัดครั้งหน้า มีอาการเมื่อไหร่ รายงานเมื่อนั้น
5. ทุกครั้งที่แพทย์เจาะเลือดระหว่างใช้ยาลดไขมัน ทำตัวสู่รู้สักนิด แบบว่าเอ็นไซม์กล้ามเนื้อของหนูสูงขึ้นไหมคะ อะไรทำนองนั้น ถ้าแพทย์บอกว่าไม่ได้เจาะ หากเป็นรพ.เอกชนให้ขอเจาะเอง อย่างน้อยสัก 3 เดือนครั้ง ถ้าเป็นรพ.ของรัฐ ก็ต้องใช้ลูกอ้อนขอแพทย์เจาะอ้างว่าเพราะเราอยากรู้ ถ้าไม่ได้ผลก็ทำฟอร์มเป็นว่าเหมือนมีอาการปวดกล้ามเนื้อนิดแบบนี้แล้วหนูจะมีปัญหากล้ามเนื้อสลายตัวไหมคะ รับรองได้เจาะแน่ คือการติดตามเอ็นไซม์ของตับและเอ็นไซม์ของกล้ามเนื้อทุก 3 เดือนระหว่างใช้ยานี้แม้จะยังไม่มีหลักฐานว่ามันลดอุบัติการณ์เกิดกล้ามเนื้อสลายตัวได้หรือไม่ แต่ก็เป็นมาตรการเพื่อความปลอดภัยที่ควรทำ ดีกับตัวหมอเองด้วยเพราะสมัยผมเป็นผู้อำนวยการรพ.เคยต้องสั่งจ่ายเงินประนีประนอมคดีหนึ่งที่คนไข้จะเอาเรื่องว่าหมอให้ยาลดไขมันแล้วไม่เจาะเลือดดู cpk ทำให้เป็นกล้ามเนื้อสลายตัว สรุปว่าให้ยาแล้วตามเจาะเลือดดู ดีทั้งขึ้นทั้งล่อง อย่า “ฆ่าควายแล้วเสียดายเกลือ” หมายความว่าการตัดสินใจใช้ยาลดไขมันเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่เทียบได้กับการฆ่าควายเอาเนื้อไว้กิน แต่ฆ่าแล้วดันมาเสียดายเกลือที่จะทำเนื้อเค็ม เนื้อที่เก็บไว้จึงเน่าเพราะอ่อนเกลือ มันไม่คุ้มกันใช่ไหมละ ฉันใด ก็ฉันเพล
“นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์” ที่มา : http://visitdrsant.blogspot.com/2013/11/rhabdomyolysis.html