โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า ตอนที่ 2 (สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้)

สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่านพบกันอีกครั้งนะครับ คราวที่แล้วผมได้พูดถึงเรื่อง โรคซึมเศร้า ไปบ้างแล้ว วันนี้มีโอกาสจึงอยากจะมาอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า นั่นก็คือ สารเคมีหรือสารสื่อประสาทในสมองนั่นเอง

สารเคมีหรือสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับ โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า หลักๆ จะมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน ได้แก่

  1. ซีโรโทนิน (Serotonin) ส่วนใหญ่จะถูกสร้างที่ระบบทางเดินอาหาร บางส่วนสร้างจากระบบประสาทในสมอง หน้าที่ของซีโรโทรินนั้นมีมากมาย เช่น ควบคุมการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ช่วยกระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือดเพื่อหยุดการเลือดออก ควบคุมอารมณ์ต่างๆ ความเจ็บปวด ความหิว การนอนหลับ อารมณ์ทางเพศ การรับรู้ต่างๆ เป็นต้น
  2. นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) เป็นทั้งสารสื่อประสาทและฮอร์โมน ถูกสร้างจากสมองและต่อมหมวกไต ทำหน้าที่กระตุ้นระบบประสาทเพื่อตอบสนองต่ออารมณ์และความเครียด กระตุ้นการเต้นของหัวใจ เพิ่มความดันโลหิต ควบคุมความจำ การเรียนรู้ การรู้สึกตัว เป็นต้น
  3. โดปามีน (Dopamine) ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก ความจำ สมาธิ ตื่นตัว กระฉับกระเฉง เป็นต้น

หลายท่านอาจจะสงสัยว่าสารสื่อประสาทเหล่านี้เกี่ยวข้องยังไงกับโรคซึมเศร้า มันทำให้เกิดโรคนี้ได้อย่างไร ถ้าจะพูดถึงเรื่องนี้ผมต้องขอย้อนไปอธิบายถึงสมดุลของสารสื่อประสาทกันสักเล็กน้อยนะครับ

โดยปกติแล้วสารสื่อประสาทจะถูกใช้ในกระบวนการส่งกระแสประสาทจากเซลล์ประสาทหนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่ง กล่าวคือ เมื่อเซลล์ประสาทตัวแรกถูกกระตุ้น กระแสประสาทก็จะไหลไปตามเส้นประสาท (ลองนึกถึงกระแสไฟที่ไหลไปตามสายไฟ) พอถึงปลายประสาทสารสื่อประสาทก็จะถูกหลั่งออกมาเพื่อไปจับและกระตุ้นตัวรับ (Receptor) บนเซลล์ประสาทตัวต่อไป

ร่างกายเราจะมีระบบที่ควบคุมไม่ให้กระบวนการนี้ทำงานมากเกินไป โดย

  1. จะมีตัวรับอยู่บนเซลล์ประสาทต้นทาง เมื่อไรก็ตามที่สารสื่อประสาทมีมากเกินไป มันก็จะมาจับกับตัวรับนี้เพื่อทำให้เซลล์ประสาทต้นทางหยุดส่งกระแสประสาท
  2. มีระบบดูดกลับสารสื่อประสาทที่ถูกปล่อยออกมาเก็บคืนปลายประสาทของเซลล์ประสาทต้นทาง
  3. มีสารหรือเอนไซม์บางชนิดที่จะคอยย่อยสลายสารสื่อประสาทไม่ให้มากจนเกินไป

ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจเกิดจากการได้รับสารหรือยาบางชนิดที่ทำให้สารสื่อประสาทในสมองลดลง หรือมีความผิดปกติของพันธุกรรมทำให้ตัวรับบนเซลล์ประสาทตัวต่อไปทำงานไม่ดีจึงไม่ถูกกระตุ้น หรือระบบดูดกลับสารสื่อประสาททำงานมากเกินไป เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงทำให้การส่งกระแสประสาทผิดปกติไป ซึ่งก็จะส่งผลต่อสมอง การควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก ความจำ การรับรู้ต่างๆ ก็จะผิดเพี้ยนไป ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจึงไม่สามารถควบคุมตัวเองได้อย่างปกติ มีความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง อารมณ์แปรปวนได้ง่าย ผู้ป่วยควรจะได้รับยาเพื่อรักษาบรรเทาอาการเหล่านี้

ยารักษาโรคซึมเศร้าในปัจจุบันมีหลากหลายชนิด โดยตัวยาจะช่วยรักษาสมดุลของสารเคมีหรือสารสื่อประสาท ส่งผลให้กระบวนการส่งกระแสประสาททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยาที่แพทย์ใช้รักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่จะเป็นยาประเภท Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการยับยั้งการดูดกลับซีโรโทนิน แต่ยารักษาโรคซึมเศร้าก็มีผลข้างเคียงเช่นกัน เช่น ส่งผลต่อจิตใจ อารมณ์ การนอนหลับ ระบบประสาท รวมถึงระบบของร่างกายอื่นๆ ดังนั้นการรับประทานยาเหล่านี้จึงควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง รวมทั้งกำลังใจจากตนเองและคนรอบข้างก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ถ้าผู้ป่วยดูแลตนเองได้ดี มีกำลังใจที่ดีจากคนรอบข้าง มีคนที่เข้าใจ เชื่อว่าผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป แล้วไว้พบกันใหม่โอกาสหน้าครับผม 🙂

ติดต่อสอบถาม หรือ นัดหมายได้ที่

มหาชัย ทีแอลซี สาขา มหาชัย
เฮลท์แลป สาขา อ่อนนุช
เฮลท์แลป สาขา หัวหิน
นุชรัตน์เฮลท์แลป สาขา หัวนา

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความยอดนิยม

You cannot copy content of this page