วันนี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่องที่แทบทุกคนจะต้องเจอ เมื่อมาตรวจสุขภาพนั่นคือการ เจาะเลือดมาตรวจ จะเจาะอย่างไร ตรงไหน ใช้อะไรเจาะ สะอาดพอหรือเปล่า และอีกหลายๆ คำถามที่เกิดกับตัวผู้ถูกเจาะเลือด เมื่อถึงเวลาที่ต้องเจาะเลือด อยากรู้กันแล้วใช่ไหมคะ
ต้องบอกไว้ก่อนว่าการที่เรามาพูดเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการว่า หลังจากที่ทุกท่านได้อ่าน เมื่ออ่านจบแล้วจะต้องเจาะเลือดได้นะคะ เพราะการเจาะเลือดนั้นถือว่าเป็นหัตถการชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ที่จะทำหน้าที่เจาะเลือดได้นั้น ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่ออกให้โดยสภาวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ แต่กฎหมายก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้างในกรณีที่ไม่มีใบอนุญาต แต่สามารถเจาะเลือดได้ต้องได้รับการอบรมเกี่ยวกับการเจาะเลือด เป็นผู้มีความชำนาญ ช่ำชองในการเจาะเลือด มีอัธยาศัยทีดี และที่สำคัญต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพด้วยนะคะ สำหรับในต่างประเทศบางประเทศเค้ามีโรงเรียนสอนการเจาะเลือดแยกออกมาจากการทำแลบโดยเฉพาะเลยนะคะ แล้วออกใบอนุญาตให้ (ซึ่งในเมืองไทยยังไม่มีค่ะ)
เจาะเลือดมาตรวจ
เอาล่ะค่ะจะเข้าเรื่องกันแล้วนะคะ การเจาะเลือดหมายถึง การเก็บสิ่งส่งตรวจเพื่อให้ได้เซลและของเหลวนอกเซลเพื่อนำมาวิเคราะห์ ซึ่งการเจาะเลือดมีอยู่ 3 ประเภทคือ
- การเจาะเลือดจากหลอดเลือดแดง ซึ่งมีความเสี่ยงและอันตรายมากที่สุด ผู้ที่ได้รับอนุญาตมีเฉพาะวิชาชีพแพทย์เท่านั้นค่ะ
- การเจาะเลือดจากเส้นเลือดฝอย อาจจะเป็นที่ปลายนื้วหรือติ่งหู
- การเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำ โดยมากจะเป็นที่แขนและมือ ซึ่งเป็นการเจาะเลือดที่เราใช้ในการตรวจวิเคราะห์และจะพูดถึงในครั้งนี้
ความสะอาด การเจาะเลือดนั้น ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ ตำแหน่งที่เจาะเลือดหรือแม้กระทั่งผู้ที่ทำการเจาะเลือดเอง แล้วอุปกรณ์ที่ใช้เจาะเลือดนั้นสะอาดไหมล่ะ แล้วผู้รับบริการะจะรู้ได้อย่างไรว่าสะอาดจริงหรือเปล่า หรือว่านำของเก่ามาใช้ใหม่ ง่ายๆค่ะโดยส่วนตัวแล้วดิฉันจะฉีกซองเข็มและไซริงค์ให้ผู้รับบริการเห็นกันเลยว่า ไม่มีการ reuse แน่นอนค่ะ ถ้าเป็นสมัยก่อนซึ่งดิฉันเคยเห็นมาบ้างตอนเด็กๆ เข็มจะเป็นสแตนเลส ไซริงค์กระบอกเป็นแก้ว ใช้แล้วก็นำมาใช้ใหม่หลังจากทำความสะอาด แต่เดี๋ยวนี้แทบจะไม่เห็นกันแล้วนะคะ เพราะปัจจุบันมีการผลิตทั้งเข็มและไซริงค์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งต้องได้รับการรับรองมาตรฐานกันด้วยนะคะ
นอกจากความสะอาดแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้มารับบริการจะคำนึงถึง และตั้งคำถามรองลงมาคือ เจ็บหรือเปล่า ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุส่วนใหญ่เลยที่หลายๆคนไม่ค่อยมาตรวจสุขภาพแม้จะให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพก็ตาม การเจาะเลือดเจ็บหรือไม่เจ็บขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยนะคะ
- ตัวผู้ให้บริการเจาะเลือด มีความชำนาญมากน้อยขนาดไหน รู้ตำแหน่งที่จะเจาะแม่นยำ ไม่พลาด เจาะแล้วต้องได้เลือดและเจ็บน้อยที่สุด ไม่ให้เจ็บเลย อาจจะยากหน่อยนะคะ หรือเกิดบาดแผลกับผู้มารับบริการน้อยที่สุด
- อุปกรณ์ที่ใช้เจาะ จริงๆแล้วบางคนอาจจะยังไม่ทราบว่าคุณภาพของเข็มแต่ละยี่ห้อไม่ได้เหมือนกัน ปลายเข็มที่ออกแบบมาเพื่อเจาะเลือดนั้นจะต้องเป็นพื้นผิวที่เรียบ จะได้ลื่นไหลเวลาแทงเข้าไปในผิว เพื่อให้เจ็บน้อยที่สุด
- ขนาดของเข็มที่ใช้เจาะ ปกตินิยมใช้เข็มเจาะเลือด ตั้งแต 21G – 23G ความยาวอาจจะ 1 นิ้ว ถึง 1 นิ้วครึ่งก็ได้ขึ้นอยู่กับความถนัดและขนาด ตำแหน่งเส้นเลือดที่จะเจาะ อาจจะขนาดเล็กกว่านั้นก็ได้ ที่นิยมใช้ขนาดเหล่านี้ เพราะเป็นขนาดที่เจาะเลือดแล้วใช้เวลาสั้น เจ็บน้อยเพราะคาเข็มไม่นาน เลือดที่ได้มีคุณภาพเม็ดเลือดไม่แตก ขณะที่เข็มเล็กอาจจะเจ็บน้อยกว่า แต่ใช้เวลานานกว่า และมีโอกาสที่เม็ดเลือดอาจจะแตกได้
เส้นเลือด
เส้นเลือดดำที่สำคัญมีอยู่ 3 เส้น มีชื่อเรียกตามลำดับการเลือกเจาะคือ
- Cephalic vein วิ่งจากต้นแขนตามแนวกล้ามเนื้อไปจนถึงบริเวณข้อมือใกล้นิ้วโป้ง จึงมีที่ให้เลือกเจาะได้มาก และเป็นเส้นที่ขนาดใหญ่ ไม่ดิ้น แต่ส่วนมากเขามักเลือกเจาะบริเวณข้อพับ เพื่อให้สามารถกดห้ามเลือดได้ง่าย
- Median cubital vein เป็นเส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างเส้น Cephalic กับเส้น Basilic อยู่บริเวณข้อพับ
- Basilic vein มาจากบริเวณใต้รักแร้ขึ้นมาที่ผิวแถวข้อพับ และทอดตามแนวแขนไปทางนิ้วก้อย มีขนาดเล็กกว่า
ในการเจาะ ผู้เจาะจะสวมเข็มให้ปลายตัดของเข็มหงายขึ้น เพื่อว่าเมื่อแทงลงในผิวหนังด้วยมุมประมาณ 30 องศาแล้ว รูเปิดของปลายเข็มจะสามารถดูดเลือดโดยไม่มีผนังเส้นเลือดขวางอยู่
อันตรายที่เกิดจากผู้เจาะไม่ชำนาญคือ เกิดเลือดออกจากเส้นเลือดไปอยู่ใต้ผิวหนัง ถ้าออกมาน้อย จะเห็นเป็นจ้ำเขียวช้ำบริเวณแทงเข็ม ถ้าห้ามเลือดไม่ดี ปล่อยให้เลือดออกมาก อาจเห็นเป็นรอยปูดเขียว ใช้เวลาเป็นเดือนจึงจะหาย
แต่ที่อันตรายกว่าคือ หากแทงเข็มเลยเส้นเลือดดำ ไปทะลุเส้นเลือดแดง ความดันในเส้นเลือดแดงจะทำให้มีเลือดออกในแขนอย่างมาก หรือไปแทงเส้นประสาทที่อยู่ลึกๆ ก็จะรู้สึกปวดแขนเป็นเวลานาน
ที่เลวร้ายที่สุด คือการใช้ไซริงค์ ห้ามดันไซริงค์เข้าในขณะที่เจาะเลือดอาจทำให้เกิดมีฟองอากาศลอดเข้าไปในเส้นเลือด หากฟองอากาศมีขนาดเล็ก จะละลายปะปนไปกับกระแสเลือดได้ แต่หากเป็นฟองขนาดใหญ่ มันจะไปตามกระแสเลือดแล้วถ้าไปหยุดที่เส้นเลือดขนาดเล็กบริเวณใด เซลล์บริเวณนั้นจะไม่มีเลือดหมุนเวียน ขาดออกซิเจน เซลล์อาจตาย ถ้าเป็นบริเวณสำคัญเช่นสมอง ก็อาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้
เมื่อเจาะได้เลือดพอแล้ว ก่อนที่จะถ่ายเลือดลงหลอด ผู้เจาะเลือดต้องไม่ลืมซับเลือดและปิดรอยเจาะด้วยสำลีที่ “แห้ง” และสะอาด บอกให้ผู้รับบริการกดที่สำลีชั่วเวลาหนึ่งจนมั่นใจว่าเลือดหยุด หรือผู้รับบริการพับแขนเพื่อกดรอยเจาะ หากผู้รับบริการไม่ปฏิบัติตาม ไม่ช้าก็จะมีจ้ำเขียวใต้รอยแผลที่เจาะ เรียกว่า hematoma ซึ่งเกิดจากเลือดออกใต้ผิวหนัง
หลังจากได้เลือดเรียบร้อยแล้วก็จัดเก็บเลือดใส่ในหลอดเลือดที่เหมาะสมในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการต่อไปค่ะ
สนใจการตรวจสุขภาพสอบถามได้ที่ healthlabclinic