น้ำตาล ความหวานที่ส่งผลกับเราโดยตรง น้ำตาล เป็นสิ่งอันตรายที่มาในรูปแบบความหวาน คอยหลอกล่อให้เราตายใจ แล้วค่อยทำร้ายเราเงียบ ๆ
น้ำตาล แบ่งเป็น 2 ประเภท
1. น้ำตาล ที่เราเจอได้ตามธรรมชาติ พบได้ในผัก ผลไม้ต่าง ๆ (น้ำตาลฟรุกโตส) หรือน้ำตาลที่อยู่ในนม (น้ำตาลแล็กโทส)
2. น้ำตาล ที่ถูกเพิ่มเข้ามา เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ
คำแนะนำที่ถูกหลักอนามัย คือ เราไม่ควรกิน น้ำตาล เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน (น้ำตาล 1 ช้อนชาเท่ากับ 4 กรัม)
พฤติกรรมการบริโภคอาหารและการใช้ชีวิตหลายอย่างสามารถนำไปสู่ปัญหาน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ปัญหาการมีไขมันส่วนเกินในร่างกายและปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมาได้มาก โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น เครื่องดื่มที่มีรสหวาน ลูกอม ไอศกรีมและขนมที่มีน้ำตาล เป็นปัจจัยที่มีส่วนทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นและเกิดภาวะสุขภาพเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ดีกว่าหากเราสามารถลดการกินน้ำตาลลงได้ค่ะ ซึ่งเมื่อเราสามารถลดการกินน้ำตาลลงได้ ก็จะเกิดข้อดีต่าง ๆ มากมายอย่างที่เรารวบรวมมาให้วันนี้ค่ะ
ภาวะดื้อ อินซูลิน ลดลง
อินซูลิน (Insulin) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตโดยตับอ่อน ซึ่งจะทำหน้าที่ในการย้ายน้ำตาลจากเลือดเข้าสู่เซลล์ เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน นอกจากนี้อินซูลินยังเกี่ยวข้องกับการเก็บพลังงาน โดยบอกเซลล์ว่าเมื่อใดควรเก็บพลังงานในรูปของไขมัน หรือไกลโคเจน (ไกลโคเจนเป็นหนึ่งในรูปแบบการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสมาเป็นพลังงานสะสม)
ภาวะดื้อต่ออินซูลิน คือ การที่เซลล์ของคุณหยุดตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งจะนำไปสู่ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นอกจากนี้ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นยังทำให้การทำงานของเซลล์ลดลง และกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ รวมไปถึงการกักเก็บไขมันเพิ่ม ปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ การที่ร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินอยู่ในกระแสเลือดมาก แต่ขาดประสิทธิภาพในการจัดการกับน้ำตาลในเลือด โดยภาวะดื้ออินซูลินนี้อาจทำให้ร่างกายของเราเกิดอาการอ่อนเพลีย อ่อนล้า ไม่มีแรง มีอาการหิวบ่อย กินเยอะแต่ไม่รู้สึกอิ่ม เกิดการอักเสบและติดเชื้อในร่างกายได้ง่าย เกิดภาวะเครียด และกระตุ้นในเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งหากเราลดการกินน้ำตาลลง รวมถึงกินอาหารประเภทคารโบไฮเดรตลดลง ก็จะส่งผลให้ภาวะดื้ออินซูลินดีขึ้น ฮอร์โมนอินซูลินมีประสิทธะภาพมากขึ้นและอาการต่าง ๆ ที่กล่าวมาก็จะค่อย ๆ ลดลงค่ะ
อาการหิวบ่อยจะลดลง
ความหิวของคนเรานั้นไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อตอนที่ท้องว่างเท่านั้นนะคะ แต่ความหิวก็สามารถเกิดขึ้นได้จากการกินน้ำตาลมากเกินไปได้เหมือนกัน โดยภาวะหิวบ่อยแบบนี้เกิดจากฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายค่ะ เมื่อใดก็ตามที่เรากินอาหารที่มีน้ำตาลเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลขัดสี ขนมปังสีขาว ข้าวขาวต่าง ๆ หากเรากินเข้าไปในปริมาณมาก ฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายของเราก็จะพุ่งขึ้นและลดลงเร็วมาก ส่งผลทำให้เราเกิดอาการหิวบ่อย ซึ่งเมื่อหิวขึ้นมาเราก็จะกินบ่อยและทำให้เสี่ยงกับโรคอ้วนและโรคเบาหวานได้มากขึ้นค่ะ
ไขมันในร่างกายลดลง
การลดน้ำตาลทำไมถึงทำให้ไขมันในร่างกายลดลง … อย่างที่รู้กันว่าการกินน้ำตาลนั้นเกี่ยวข้องกับการลดน้ำหนัก เมื่อเรากินหวานมาก ๆ เราก็จะอ้วนขึ้น สาเหตุเกิดมาจากฮอร์โมนอินซูลินพุ่งสูง และร่างกายจะใช้เลือกพลังงานจากน้ำตาลเป็นหลัก ส่งผลให้ไขมันที่ร่างกายสะสมไว้ไม่ได้ถูกนำมาเผาผลาญและจะยังคงมีไขมันเก็บไว้ตามอวัยวะภายในต่าง ๆ เหมือนเดิม รวมถึงหากร่างกายใช้พลังงานจากน้ำตาลไม่หมด เมื่อนั้นน้ำตาลที่เหลือส่วนนี้จะถูกเปลี่ยนรูปร่างไปเป็นไขมันและเก็บไว้ตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกายเพิ่มเข้าไปอีก การที่เราไม่กินน้ำตาลหรือกินน้ำตาลให้น้อยลง ก็จะส่งผลให้ร่างกายนำไขมันออกมาเผาผลาญเป็นพลังงานและทำให้ไขมันในร่างกายค่อย ๆ ลดลงค่ะ
ผิวพรรณดีขึ้น
น้ำตาลคือตัวการที่ทำให้เราดูแก่ขึ้นได้ โดยเกิดจากกระบวนการที่เรียกว่า ไกลเคชั่น (Glycation) กระบวนการนี้เกิดจากการที่เราบริโภคน้ำตาล หรืออาหารประเทคาร์โบไฮเดรตเข้าไปในปริมาณมาก ซึ่งเมื่อน้ำตาลเข้าไปในเลือดก็จะไปทำปฏิกิริยากับโปรตีนในร่างกาย ทำให้โปรตีนผิดรูปและก่อให้เกิดสาร AGEs ( Asvanced glycation end product ) หรือสารเร่งแก่ค่ะ เมื่อสาร AGEs มีมากขึ้นก็จะทำให้ผิวพรรณของเราเกิดริ้วรอย ขาดความยืดหยุ่นและเหี่ยวย่นได้ง่ายมากขึ้น ส่งผลให้เราดูแก่ก่อนวัยอันควร ดังนั้นหากเราลดการกินน้ำตาลลงได้ ก็จะเป็นการช่วยลดกระบวนการเกิดสารชนิดนี้ได้ และทำให้ผิวพรรณของเราดีขึ้นค่ะ เรื่องความสวย ความเหี่ยวย่น สำหรับผู้หญิงเรานี่สำคัญมากเลยนะคะ
เห็นประโยชน์หรือข้อดีของการลดการกินน้ำตาลแล้ว หลายคนคงอยากจะเริ่มลดการกินขนมหวาน น้ำตาล และแป้งแล้วแน่ ๆ เลย ใช่ไหมคะ
อ้างอิง
1. Surwit RS, Feinglos MN, McCaskill CC, et al. Metabolic and behavioral effects of a high-sucrose diet during weight loss. Am J Clin Nutr. 1997;65(4):908-915. doi: https://doi.org/10.1093/ajcn/65.4.908