NAAT คืออะไร จากบทความครั้งที่แล้ว (HIV ตรวจแบบไหนดี) ดิฉันคาดว่าคุณผู้อ่านที่รักหลาย ๆ ท่านน่าจะสามารถคลายความสงสัยในการตรวจหาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ได้ไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ
แต่อย่างไรก็ตามสำหรับหลาย ๆ ท่านที่ค่อนข้างเป็นคนใจร้อนก็คงหนีไม่พ้นที่จะมีความสนใจเกี่ยวกับการตรวจหาตัวเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ด้วยเทคนิค NAAT (Nucleic Acid Amplification) อย่างแน่นอนเลยใช่ไหมคะ ดังนั้นบทความในครั้งนี้ดิฉันเลยขอนำเสนอข้อมูลเบื้องลึกเกี่ยวกับเจ้าเทคนิค NAAT นี้ว่ามันคืออะไร และมีความพิเศษอย่างไร เพื่อให้คุณผู้อ่านที่รักของดิฉันได้เข้าใจกระจ่างมากขึ้น
NAAT คืออะไร
NAAT หรือ Nucleic Acid Amplification เป็นเทคนิคหนึ่งของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการเพิ่มขยายจำนวนสารพันธุกรรม (DNA/RNA) ของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะเชื้อไวรัส ทำให้สามารถตรวจหาตัวเชื้อได้ตั้งแต่ขณะที่เชื้อมีปริมาณน้อย ๆ จึงทำให้สามารถย่นระยะเวลาในการหาการติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น ที่จากการตรวจแบบวิธีเดิมซึ่งเป็นการตรวจหาภูมิต้านทานต่อเชื้อที่ต้องรอเวลาหลังเสี่ยงต่อการรับเชื้อมาอย่างน้อย 1 เดือน เปลี่ยนมาสามารถตรวจได้เร็วขึ้นหลังเสี่ยงมาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เนื่องจากหลังจากที่เราได้รับเชื้อไวรัสเข้าไปแล้วนั้น เจ้าตัวไวรัสทั้งหลายจะยังไม่เพิ่มจำนวนในทันที แต่มันจะไปหาที่ ๆ เหมาะแก่การเพิ่มจำนวนตัวมันเองตามที่ต่าง ๆ ที่เชื้อไวรัสนั้น ๆ ชอบ เช่น เชื้อไวรัส HIV จะเข้าไปอยู่ในเซลล์เม็ดเลือดขาว ชนิด CD4 หรืออย่างเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี (Hepatitis Virus B, C) ที่จะเข้าไปแฝงตัวในตับ และเมื่อเจ้าไวรัสเหล่านี้เข้าไปยังอวัยวะเป้าหมายที่มันชื่นชอบแล้วมันจึงจะเริ่มทำการแบ่งตัวเองเพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งจากขั้นตอนดังกล่าวนี้นั่นเองที่ส่งผลให้เรายังไม่สามารถตรวจหาตัวเชื้อได้ตั้งแต่วินาทีแรกที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย แต่การจะตรวจหาเชื้อไวรัสต่าง ๆ ด้วยเทคนิค NAAT จำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือ และน้ำยาตรวจเฉพาะ ซึ่งล้วนแต่มีราคาต้นทุนที่สูง จึงทำให้การตรวจด้วยวิธีนี้มีราคาแพง และสามารถตรวจได้เฉพาะบางแห่งเท่านั้น
ในปัจจุบันสภากาชาดได้เพิ่มการตรวจคัดกรองเลือดถุงทุกที่ได้รับบริจาคจากทุกภาคส่วนด้วยเทคนิค NAAT เพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความปลอดภัยที่จะนำเลือดทุกถุงไปใช้ต่อยังผู้ป่วยคนอื่น ๆ ต่อไป และดังที่กล่าวไปแล้วว่าเทคนิค NAAT มีความไวในการตรวจพบการติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น แต่ก็มีค่าใช้จ่ายในการตรวจที่สูงด้วยเช่นกัน ดังนั้นอาจจะทำให้หลาย ๆ ท่านที่ไปบริจาคโลหิตอาจจะไม่ได้ไปด้วยความบริสุทธิ์ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยหวังจะได้รับการตรวจทางอ้อมที่อาศัยการตรวจคัดกรองจากทางสภากาชาดโดยที่ตนไม่เสียค่าใช้จ่ายใด แต่คุณผู้อ่านที่รักอย่าลืมนะคะว่าเลือดที่เราไปบริจาคนั้นก็เพื่อจะนำไปช่วยรักษาผู้อื่นต่อไป และที่สำคัญการตรวจด้วยเทคนิคนี้ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาเช่นกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการดีที่สุดเราควรจะป้องกันที่ตัวเราเสียตั้งแต่แรก แต่หากพลาดพลั้งไปแล้วเราก็ควรมีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม โดยไปตรวจตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เขารับตรวจโดยเฉพาะที่อาจจะเสียเงินแพงไปหน่อยแต่แลกกับความสบายใจของตัวเอง หรือในความเป็นจริงจะรออีกสัก 1-2 เดือน เพื่อไปตรวจหาภูมิต่อเชื้อที่มีราคาถูกกว่า และสามารถหาตรวจได้ทั่วไปก็ไม่สายเกินไปหรอกคะ เพราะมีขั้นตอนการรักษาที่ไม่แตกต่างกัน
สนใจการตรวจสุขภาพสอบถามได้ที่ healthlabclinic หรือ มหาชัยทีแแอลซี