เนื่องจากมีคำถามเข้ามามากมายเรื่องการตรวจหาเชื้อ HIV ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
- ตรวจได้เร็วที่สุดหลังเสี่ยงกี่วัน
- ไม่ได้ป้องกัน หรือถุงยางแตกเสี่ยงติดแค่ไหน
- ใช้ห้องน้ำ ใช้ของร่วมกันกับผู้มีเชื้อ มีโอกาสติดมาน้อยแค่ไหน
- จูบกัน หรือ Oral sex มีโอกาสติดหรือไม่
- วิธีการตรวจแบบไหนเชื่อถือได้มากที่สุด
- วิธีการตรวจไหนตรวจได้เร็วที่สุด
- ตรวจผลออกมาเป็นลบแล้ว…ยังมีคำถามต่อว่าเชื่อถือได้มากแค่ไหน เอิ่ม – –
แอดมินจึงอยากเขียนเรื่อง HIV (อีกแล้ว) …เฮ้อ อย่าเพิ่งเบื่อนะคะ
ระยะที่น่ากลัวมากที่สุด คือช่วงที่เพิ่งสัมผัสเชื้อมา หรือเพิ่งติดมาเรียกว่าช่วง Window period อยู่ในช่วงประมาณ 3-4 สัปดาห์แรกหลังรับเชื้อ ไม่สามารถตรวจเจอภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้เพราะปริมาณเชื้อ-ภูมิต่ำมาก บางทีแม้กระทั่งวิธีที่ดีที่สุดในตอนนี้ (NAT) ก็ยังมีบางทีที่ตรวจไม่พบ ทำให้มีโอกาสส่งต่อเชื้อไปให้ผู้อื่นสูงมาก
ในปัจจุบันมีการตรวจการติดเชื้อ HIV อยู่ 2 แบบ
- Direct Testing เป็นการตรวจหาเชื้อ HIV Antigen โดยตรงมี 2 วิธี อาจตรวจพบได้ในช่วง Window period แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่นจำนวนเชื้อที่ได้รับ การตอบสนองต่อเชื้อของแต่ละคน ไม่เท่ากัน
- NAT (Nucleic Acid Testing) หลักการ PCR ตรวจพวก Acute infection หรือเพิ่งติดมาใหม่ๆ ตรวจได้หลังติดเชื้อ 7-14 วัน ใช้ในการตรวจเลือดที่รับบริจาค กาชาด
- HIV p24 Ag ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเชื้อ HIV สามารถตรวจได้ในระยะที่ยังไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody) โดย WHO กำหนดเกณฑ์อยู่ที่ 2 IU/mL. ตรวจได้หลังติดเชื้อประมาณ 2-4 สัปดาห์ หรือ 16 วัน
- Indirect Testing เป็นการตรวจการติดเชื้อทางอ้อม โดยตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody) ที่สร้างต่อเชื้อ ในปัจจุบันสามารถตรวจได้หลังติดเชื้อที่ 3-4 สัปดาห์ ถ้านับตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันพัฒนามาจนถึง Gen 3
สำหรับคำถามถึงชุดตรวจ Gen 3 กับ Gen 4 ต่างกันอย่างไร (ไม่ขอพูดถึง Gen 1-2 ที่ไม่ใช้กันแล้วนะคะ)
- Gen 3 (Third generation) คือการตรวจหา antibody ทั้ง IgM และ IgG ซึ่งตรวจได้หลังติดเชื้อ 3-4 สัปดาห์ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเพื่อการวินิจฉัยการติดเชื้อ HIV
- Gen 4 (Forth generation) คือการตรวจหาทั้ง Antigen (p24) และ Antibody ในเวลาเดียวกัน ทำให้มีความไวสูงขึ้น
คิดว่าคงได้ข้อมูลเพียงพอที่จะเลือกวิธีการตรวจที่เหมาะสมกับตัวเอง อยากรู้เร็วก็ NAT แต่ส่วนตัวแล้วแอดมินคิดว่าถ้าตัวผู้เสี่ยงเองป้องกันทุกครั้งด้วยการสวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งคงไม่ต้องมานั่งลุ้นว่าจะติดไม่ติด ตรวจได้เร็วที่สุดกี่วัน แล้วต้องตรวจซ้ำอีกทีเมื่อไหร่ แต่บางทีเรื่องนี้ก็พูดยากในกรณีสามี-ภรรยา คงไม่มีใครมาป้องกัน แต่ก็เป็นสาเหตุนึงที่ทำให้เกิดการกระจายของเชื้อที่ตรวจพบในหญิงตั้งครรภ์
และที่อยากจะฝากทุก ๆคนที่บริจาคเลือดเพื่อต้องการเช็ค HIV ว่าถ้าคุณเป็นคนนึงที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมา อย่าเพิ่งมาบริจาคเลือด เวลาที่เราไปบริจาคเลือดจะต้องกรอกแบบฟอร์มก่อนเข้ารับบริการ กรุณาตอบตามความเป็นจริง เพราะอะไร…
อย่าลืมว่าช่วง Window period แรกๆเป็นช่วงที่อาจจะตรวจไม่พบเชื้อแม้กระทั่งการตรวจด้วย NAT (ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในปัจจุบัน)แต่ก็พบน้อยมาก สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ กรณีที่กลุ่มเสี่ยงเพิ่งไปเสี่ยงมาแล้วบริจาคเลือด ทำให้มีโอกาสที่จะตรวจไม่พบเชื้อ เมื่อเลือดถุงนั้นส่งผลต่อไปถึงผู้รับบริจาค คุณคิดว่าเค้าจะเป็นอย่างไร แล้วถ้าคนๆนั้นเป็นคนที่คุณรู้จัก เป็นญาติ เป็นคนที่คุณรักล่ะ เหตุการณ์แบบนี้เคยเจอกันมาแล้ว ฟ้องร้องค่าเสียหายกันไป แต่คงไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องสูญเสีย .. และท้ายที่สุดก็คงไม่มีใครจะมีความสุข