ไวรัสตับอักเสบบี

สวัสดีครับ ผมชื่อไวรัสตับอักเสบบี

สวัสดีครับ ผมชื่อ ” ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus) “ ผมเป็นไวรัสที่สำคัญและพบมากที่สุดที่ทำให้เกิดการอักเสบที่ตับ ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจจะทำให้เกิดพังผืดที่ตับจนกลายเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับตับได้ ปัจจุบันพบว่าในประเทศไทยมีการระบาดของไวรัสตับอักเสบบีสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

ไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อกันอย่างไร?

ไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อได้ทาง เลือด เพศสัมพันธ์ หรือ สารคัดหลั่งอื่น ๆ ของร่างกาย

  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
  • การใช้เข็มฉีดยา หรือการใช้เข็มเจาะและสักส่วนต่างๆ ของร่างกายร่วมกัน
  • การใช้แปรงสีฟัน มีดโกน หรือกรรไกรตัดเล็บร่วมกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดบาดแผลได้
  • การรับเลือดจากคนที่มีเชื้อ ซึ่งพบได้น้อยมากเพราะปัจจุบันได้มีการตรวจคัดกรองเชื้อต่าง ๆ จากเลือดของผู้บริจาคก่อนนำไปใช้
  • การสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่าง ๆ ผ่านทางบาดแผล
  • การติดเชื้อขณะคลอดจากมารดาที่มีเชื้อ ซึ่งทารกมีโอกาสสูงถึง 90 % ที่จะได้รับเชื้อ แต่ปัจจุบันจะมีการฉีดยาภูมิคุ้มกัน HBIG (Hepatitis B immunoglobulin) รวมกับวัคซันไวรัสตับอักเสบบีให้ทารกที่คลอดจากมารดาที่มีเชื้อภายใน 12 ชม.หลังคลอด ซึ่งจะช่วยป้องกันไวรัสตับอักเสบบีได้

อาการเป็นอย่างไร?

หลังได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 เดือน บางรายอาจจะไม่มีอาการ ขณะที่บางรายอาจจะมีอาการเช่น มีไข้ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์จะเริ่มจุกแน่นบริเวณใต้ชายโครงด้านขวาซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ ปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม ตัวเหลืองตาเหลืองหรือที่เรียกว่าดีซ่าน อาการต่าง ๆ จะดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นร่างกายจะค่อยๆ กำจัดเชื้อออกไปจนหมด และสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบีต่อไป

” กว่า 90 % ผู้ป่วยสามารถหายได้เองภายในระยะเวลา 10 สัปดาห์ “

มีส่วนน้อยไม่ถึง 10 % เท่านั้นที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อออกไปได้เองจนทำให้เป็นเรื้อรัง (ติดเชื้อนานกว่า 6 เดือน) หากไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลร่างกายให้ดีก็มีโอกาสที่จะทำให้ตับอักเสบรุนแรงขึ้น เริ่มมีพังผืดที่ตับจนเป็นตับแข็ง หรืออาจกลายเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด การติดเชื้อแบบเรื้อรังมักพบมากในทารกที่ติดเชื้อตั้งแต่กำเนิด หรือเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี

บางรายอาจตรวจพบเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรือมีค่าการทำงานของตับ (Liver function test) ปกติ เรียกว่าเป็นพาหะ ซึ่งยังสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้

การวินิจฉัยและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

  • การตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเบื้องต้น ได้แก่
  • HBs Ag คือโปรตีนจากผิวหรือเปลือกของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี บ่งบอกว่ามีการติดเชื้ออยู่หรือไม่?
  • Anti-HBs คือภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ถ้ามีภูมิคุ้นกันแล้วก็สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ อาจมาจากการติดเชื้อแล้วร่างกายกำจัดเชื้อได้และสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง หรือมาจากการฉีดวัคซีน
  • Anti-HBc คือโปรตีนที่ตอบสนองต่อแกนของไวรัสตับอักเสบบี สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ได้รับเชื้อครั้งแรกและจะคงอยู่ตลอดไป บ่งบอกว่าเคยได้รับเชื้อหรือไม่?
  • การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ (Liver function test : LFT) เพื่อดูว่าตับมีการทำงานผิดปกติหรือมีการอักเสบหรือไม่?
  • การตรวจเลือดหาค่าแอลฟาฟีโตโปรตีน (Alpha Fetoprotein : AFP) ซึ่งเป็นการตรวจหามะเร็งตับ
  • การอัลตราซาวน์และการตรวจชิ้นเนื้อตับ เพื่อดูว่าตับมีการอักเสบ มีพังผืด เกิดภาวะตับแข็งหรือมะเร็งตับหรือไม่?

ป้องกันอย่างไร?

  • กรณีที่ไม่มีการติดเชื้อ ไม่มีภูมิคุ้มกันและไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ควรได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยการใช้ถุงยางอนามัย
  • ระมัดระวังเมื่อต้องใช้เครื่องมือหรือของมีคมร่วมกัน รวมถึงการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ จากผู้อื่น

ทำอย่างไรดี? ถ้าเราติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

อย่างที่เคยกล่าวไว้ว่า กว่า 90 % ผู้ป่วยสามารถหายได้เองภายในระยะเวลา 10 สัปดาห์ ดังนั้นไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป เพราะความเครียดจะทำให้ร่างกายยิ่งอ่อนแอและกำจัดเชื้อได้ยากขึ้น

  • ตรวจเลือดหาเชื้อและภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทุกๆ 3-6 เดือน กรณียังพบเชื้อหลังผ่านไปแล้ว 6 เดือนเรียกว่า ติดเชื้อเรื้อรัง
  • ตรวจเลือดดูการทำงานของตับทุกๆ 3-6 เดือน เพื่อดูว่ามีการอักเสบหรือความผิดปกติต่อตับหรือไม่?
  • ตรวจเลือดหาค่า AFP ทุก ๆ 6 เดือน เพื่อดูความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ
  • ตรวจเลือดเพื่อหาไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นๆ ที่อาจแทรกซ้อนได้
  • กรณีที่มีการติดเชื้อเรื้อรังหรือมีความผิดปกติของตับอย่างชัดเจน แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสหรือยากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อและลดอาการบาดเจ็บหรืออักเสบของตับ ซึ่งต้องอยู่ในความดูแพทย์เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้
  • ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ตับต้องทำงานหนักมากขึ้น เช่น หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง รสจัดและของหมักดอง การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ การกินยาหรือสมุนไพรบางชนิดที่ส่งผลกับตับอย่างไม่จำเป็น
  • ควรป้องกันการแพร่เชื้อจากตนเองสู่ผู้อื่น และแนะนำให้คนใกล้ชิดตรวจเลือดดูว่ามีการติดเชื้อหรือมีภูมิคุ้มกันหรือไม่? เพื่อพิจารณาการได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  • ควรรับทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย ดื่มน้ำเปล่าและพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน เมื่อร่างกายแข็งแรงก็จะสามารถกำจัดเชื้อได้ง่ายขึ้น

ผมเป็นไวรัสชนิดที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลาย ๆ คนคิด แต่ก็ไม่ควรประมาทหรือละเลยที่จะดูแลตัวเอง ผู้ป่วยหลายคนมักวิตกกังวลเกินไปจนทำให้เกิดความเครียดและร่างกายอ่อนแอ การดูแลตนเองและตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เราสามารถรับมือกับไวรัสชนิดนี้ได้ไม่ยาก สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึงคือ หลายครั้งที่ผู้ป่วยไม่รู้ว่าตนเองได้รับเชื้อ (อาจเพราะไม่แสดงอาการชัดเจนหรือละเลยที่จะมาตรวจเลือด) จึงไม่ได้ดูแลตนเองให้ดีเท่าที่ควร บางรายกว่าจะรู้ตัวก็แสดงอาการค่อนข้างรุนแรงหรือแย่ที่สุดก็คือกลายเป็นมะเร็งตับไปเสียแล้ว ดังนั้นจึงควรตรวจเลือดเช็คสุขภาพทั้งการทำงานของตับ การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ และอื่นๆ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกๆ ท่านรู้จักกับผม “ไวรัสตับอักเสบบี” มากขึ้นนะคร้าบบบ

ติดต่อสอบถาม หรือ นัดหมายได้ที่

มหาชัย ทีแอลซี สาขา มหาชัย
เฮลท์แลป สาขา อ่อนนุช
เฮลท์แลป สาขา หัวหิน
นุชรัตน์เฮลท์แลป สาขา หัวนา

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความยอดนิยม

You cannot copy content of this page