หลายคนคงคุ้นเคยหรือได้ยินคำว่า ไวรัสตับอักเสบ อยู่บ่อยๆ
โดยเฉพาะ ไวรัสตับอักเสบ บี เป็นโรคที่คนไทยรู้จักแต่มักไม่ให้ความสำคัญ เพราะอาจยังไม่รู้ว่าเป็นโรคที่ร้ายแรง ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่พบผู้ที่เป็นพาหะและเป็นโรคไวรัสตับอักเสบจำนวนมาก
ระยะฟักตัว (หลังติดเชื้อแล้วแต่ยังไม่มีอาการ) ของโรคประมาณ 6-8 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ บี (HBs Ag) อาจไม่มีอาการหรือมีอาการ ซึ่งแบ่งอาการเป็น 2 กลุ่มคือ
- อาการไม่รุนแรง มีอาการโรคตับอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ตาและตัวเหลือง
- อาการรุนแรง ตับจะโต จนถึงภาวะตับวายเฉียบพลัน
แต่ถ้าร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสนี้ได้ เชื้อจะค่อยๆลดจำนวนลงและหมดไปใน 5-6 เดือนหลังจากได้รับเชื้อ จากนั้นจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อขึ้นมา (HBs Ab) ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เราติดเชื้อไวรัสตับอีกเสบบีไปอีกนานแสนนาน
แต่สำหรับคนที่ไม่หาย ก็มีโอกาสติดเชื้อยาวๆ ไปจนลุกลามเป็นมะเร็งตับได้จากตัวเลขสถิติ
- ผู้ที่ติดเชื้อประมาณ 5-10% ไม่หาย เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังตามมา ซึ่งในอีก 10 ถึง 20 ปีต่อมา อาจกลายเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับในที่สุด
- ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ในวัยแรกเกิดมักไม่มีอาการ ซึ่งในกลุ่มนี้ 90% ไม่หายขาด กลายเป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
“เชื้อ ไวรัสตับอักเสบ บี” ติดต่อได้ทางไหน ??
- การมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อโดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสักตามร่างกาย หรือการเจาะหูที่ไม่สะอาด
- การใช้แปรงสีฟัน มีดโกน กรรไกรตัดเล็บร่วมกัน
- การติดต่อจากแม่สู่ทารกในครรภ์มักเกิดการติดเชื้อขณะคลอด
- การสัมผัสกับเลือด น้ำเลือด น้ำคัดหลั่ง โดยผ่านเข้าทางบาดแผล
คำแนะนำในการตรวจเช็คสุขภาพเพิ่มเติมหลังจากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแล้ว
- ควรที่จะตรวจ HBe Ag และ HBe Ab ซึ่งเป็น marker ที่บอกถึงความรุนแรงของโรค หากตรวจพบ HBe Ag แสดงว่าเชื้อกำลังแบ่งตัวเข้าทำลายเซลล์ตับ และหากตรวจพบ HBe Ab แสดงว่าความรุนแรงของโรคลดลง
- ในรายที่ติดเชื้อเรื้อรัง ควรตรวจเช็คสารก่อมะเร็งตับ Alpha fetoprotein (AFP) อย่างน้อยปีละครั้ง รวมไปถึงการตรวจ HBV viral load เพื่อเช็คจำนวนเชื้อไวรัสตับอักเสบบีบ้าง เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค
เพราะโรคไวรัสตับอักเสบบีส่วนใหญ่ในช่วงแรกมักไม่แสดงอาการ กว่าจะรู้ตัวก็อาจจะนำไปสู่มะเร็งตับแล้วก็ได้ แต่มีวิธีป้องกันที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งตับ คือ การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวและคนใกล้ชิด (ควรทำการตรวจเช็คก่อนตรวจ) และตรวจเช็คสุขภาพประจำปี ดื่มน้ำสะอาด ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดการทานอาหารที่ส่งผลให้เกิดไขมันพอกตับ ทั้งแป้ง น้ำตาล รวมไปถึงควรงด – ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลต่อการทำลายตับ และออกกำลังกายสม่ำเสมอนะคะ