fbpx
240417 โพรไบโอติกส์กับสุขภาพ

โพรไบโอติกส์ กับ สุขภาพ

ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในปัจจุบันอาจส่งผลให้ จุลินทรีย์ ในร่างกายอยู่ในภาวะไม่สมดุล ทั้งในแง่ของอาหารการกิน การออกกำลังกาย หรือการพักผ่อนไม่เพียงพอ จนอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับลำไส้และระบบภูมิคุ้มกันตามมาหลายคนอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า สุขภาพดีเริ่มต้นได้จากภายในสู่ภายนอก ในร่างกายของเรา นอกจากอวัยวะต่าง ๆ ที่ต่างทำงานเพื่อให้ร่างกายของเรามีสุขภาพที่ดี ยังมีจุลินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆอีกจำนวนมาก ที่คอยช่วยดูแลร่างกายของเราให้แข็งแรง แต่หลายคนอาจไม่ได้นึกถึง นั่นคือ โพรไบโอติกส์  (Probiotics) ที่อาศัยอยู่ในร่างกายนั่นเอง

โพรไบโอติกส์  (Probiotics) คืออะไร ?

Probiotic หรือ โพรไบโอติกส์ คือ จุลินทรีย์และยีสต์มีชีวิตที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเรา โดยปกติแล้ว ร่างกายจะมีจุลินทรีย์ทั้งชนิดดีและชนิดร้าย ซึ่งหากร่างกายมีอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ จุลินทรีย์ชนิดร้ายก็จะเข้าไปทำลายระบบต่าง ๆ ในร่างกาย แต่สำหรับโพรไบโอติกส์ที่เป็นจุลินทรีย์ชนิดดี จะทำหน้าที่ช่วยในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน รวมทั้งระบบอื่น ๆ กำจัดจุลินทรีย์ชนิดร้าย และคืนสภาวะสมดุลปกติให้กับร่างกาย ในปัจจุบันมีการผลิตโพรไบโอติกส์ออกมาหลายรูปแบบ ตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่ม ไปจนถึงอาหารเสริมหลายชนิด โดยปกติแล้ว จุลินทรีย์แบ่งออกได้หลายกลุ่ม แต่จะมีเพียงบางสายพันธุ์ในบางกลุ่มเท่านั้นที่เป็นโพรไบโอติกส์ ในร่างกายของเรามีโพรไบโอติกส์ อยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่พบได้บ่อย ได้แก่

Lactobacillus

แลคโตบาซิลลัส เป็นจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในระบบย่อยอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะเพศ มีมากกว่า 50 สายพันธุ์ การศึกษาพบว่าแลคโตบาซิลลัสบางสายพันธุ์สามารถบรรเทาหรือป้องกันปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับลำไส้ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS) ท้องเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะ ท้องเสียจากติดเชื้อ Clostridium Difficile ท้องเสียจากการเดินทาง (Traveler’s Diarrhea) ภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยนมหรือไม่ทนทานต่อน้ำตาลแล็กโทส (Lactose Intolerance) นอกจากนี้ แลคโตบาซิลลัสอาจส่งผลดีต่อปัญหาสุขภาพด้านอื่น เช่น การติดเชื้อรา ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือความผิดปกติทางผิวหนังอื่น ๆ อย่างเริมริมฝีปาก ผื่นผิวหนังอักเสบ หรือแผลร้อนใน เป็นต้น

Bifidobacteria

บิฟิโดแบคทีเรีย เป็นจุลินทรีย์ที่อยู่อาศัยในบริเวณลำไส้ใหญ่ มีอยู่ประมาณ 30 สายพันธุ์ โดยพบในระบบทางเดินอาหารของทารก โดยเฉพาะทารกที่ดื่มนมมารดา บิฟิโดแบคทีเรียถือว่าเป็นชนิดที่มีประโยชน์กับทารกอย่างมาก การศึกษาพบว่าเชื้อบิฟิโดแบคทีเรียบางสายพันธุ์ช่วยควบคุมน้ำตาลและไขมันในเลือด บรรเทาโรคลำไส้แปรปรวนและอาการของโรค เช่น ปวดแน่นท้อง ท้องอืด และความผิดปกติเกี่ยวกับการย่อยอาหาร

Saccharomyces Boulardii

จุลินทรีย์ชนิดนี้เรียกสั้น ๆ ว่า S. Boulardii เป็นโพรไบโอติกส์ชนิดเดียวที่จัดอยู่ในกลุ่มยีสต์ การศึกษาบางส่วนพบว่าเชื้อนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาโรคท้องเสียจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ผลข้างเคียงจากยาปฏิชีวนะ โรคท้องเสียจากการท่องเที่ยว (Traveler’s Diarrhea) การติดเชื้อซ้ำจากคลอสตริเดียมดิฟฟิไซล (C. Difficile) การติดเชื้อเชื้อเอชไพโลไร (H. Pylori) และอาจส่งผลดีต่อการรักษาสิวด้วย

Streptococcus Thermophilus

สเตปค็อกคัสเธอร์โมฟิลัส เป็นจุลินทรีย์ที่มีส่วนในการสร้างเอนไซม์แล็กเทส (Lactase Enzyme) ที่ช่วยในการย่อยน้ำตาลแล็กโทสในน้ำนมสำหรับผู้ที่มีภาวะไม่ทนทานต่อน้ำตาลแล็กโทส (Lactose Intolerance) ซึ่งภาวะนี้มักทำให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง และท้องอืด

ประโยชน์ของ โพรไบโอติกส์ ที่มีต่อร่างกาย ?

  • ช่วยรักษาสมดุลในระบบย่อยอาหาร ช่วยรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกายที่เสียไป
  • กระตุ้นการย่อยอาหารด้วยการสร้างเอนไซม์หลายชนิด
  • สร้างสารป้องกันไม่ให้เชื้อก่อโรคจับที่ผิวเยื่อบุลำไส้ โดยการสร้างเกราะป้องกันบริเวณเยื่อบุลำไส้
  • ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อฉวยโอกาสในร่างกาย
  • มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร ป้องกัน และบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน ท้องร่วง ท้องผูก เป็นต้น
  • ปรับสมดุลภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • ลดการอักเสบ และติดเชื้อ เช่น ในระบบทางเดินปัสสาวะ และช่องคลอด

เราสามารถเพิ่ม โพรไบโอติกส์ ในร่างกายได้อย่างไรบ้าง ?

เราสามารถเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ชนิดดีในร่างกายได้ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ อย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น โยเกิร์ตรสธรรมชาติ (ไม่เติมน้ำตาล) กิมจิ มิโซะ เทมเป้ คอมบูชา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีอาหารอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) พบได้ใน หน่อไม้ฝรั่ง กล้วย กระเทียม หอมใหญ่ มันแกว แก่นตะวัน ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อย และดูดซึมได้ที่ลำไส้เล็ก แต่อาหารเหล่านี้ จะถูกย่อยสลาย เป็นอาหารของโพรไบโอติกส์  กระตุ้นการเจริญเติบโต การทำงาน และส่งเสริมฤทธิ์โพรไบโอติกส์ ได้ดียิ่งขึ้น

การรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ เพื่อรักษาสมดุลลำไส้ ระบบทางเดินอาหาร และระบบภูมิคุ้มกันแล้ว การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ชนิดอื่น ๆ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ และทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียด ก็มีส่วนช่วยรักษาสมดุลของโพรไบโอติกส์ภายในร่างกายได้อีกทาง เพื่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

อ้างอิง

  1. Lenoir-Wijnkoop I, Sanders ME, Cabana MD, Caglar E, Corthier G, Rayes N, et al. Probiotic and prebiotic influence beyond the intestinal tract. Nutrition Reviews. 2008;65(11):469–89.
  2. Zhang M, Yang X-J. Effects of a high fat diet on intestinal microbiota and gastrointestinal diseases. World Journal of Gastroenterology. 2016;22(40):8905.
  3. Zaib Sumera*, Hayat Aqsa and Khan Imtiaz*, Probiotics and their Beneficial Health Effects, Mini-Reviews in Medicinal Chemistry 2024; 24 (1).

ติดต่อสอบถาม หรือ นัดหมายได้ที่

มหาชัย ทีแอลซี สาขา มหาชัย
เฮลท์แลป สาขา อ่อนนุช
เฮลท์แลป สาขา หัวหิน
นุชรัตน์เฮลท์แลป สาขา หัวนา

You cannot copy content of this page