หลายวันก่อน ได้มีโอกาสไปทานข้าวที่ร้านบ้านถั่วเย็น (บรรยากาศสบายๆ อาหารอร่อย เจ้าของร้านใจดี ^_^) เหลือบไปเห็นโถแก้ว หลายใบเรียงอยู่บนเคาเตอร์ เลยได้คุยกับพี่เก๋(บ้านถั่วเย็น) เจ้าของร้าน ความว่า
เมื่อก่อนแกเคยเลี้ยงปลากัด เสร็จแล้วต้องคอยช้อนไรน้ำให้ปลากิน รู้สึกไม่ค่อยดีที่ต้องคอยใช้ชีวิตเลี้ยงชีวิตก็เลยเลิกเลี้ยงปลากัด ทำให้โหลนั้นว่างเปล่าแต่กระไหนเลย ไม่ได้ว่างซะทีเดียวยังคงมีน้ำอยู่ในโหล ทำให้กลายเป็นที่สะสมของลูกน้ำต้นตอของยุงตัวแสบ ผมก็เลยถามแกไปว่าทำไมไม่เลี้ยงปลาหางนกยูงล่ะ เพราะมีอยู่หลายสายพันธุ์ สีสวยเลี้ยงง่าย ไม่ยุ่งยาก แถมไม่ทำให้เจ้าโหลใบว่างกลายเป็นที่อยู่ของเจ้าลูกน้ำไปซะ ก็เลยเป็นที่มาของเรื่องนี้ครับ ….
เกริ่นมาซะยาวเข้าเรื่องดีกว่า เรื่องของเรื่องคือพอได้คุยกับพี่เค้า เราสนใจเรื่องปลาหางนกยูงอยู่วันนี้ก็เลยอยากนำเรื่องปลาหางนกยูงมาเล่าให้ฟังกันครับ
ปลาหางนกยูงนั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าPoecilia reticulata (Peters, 1959) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก ในตระกูลปลาสอดมีลักษณะเด่นคือ ลำตัวและครีบมีลวดลายและสีสันหลากหลายรูปแบบสดสวยสะดุดตา จากลักษณะเด่นที่ว่าทำให้มีผู้ทำการเพาะพันธ์ จนได้ปลาหางนกยูงที่มีสายพันธ์แปลกใหม่โดยเน้นความสำคัญไปที่รูปแบบของครีบหาง ลักษณะลวดลายและสีของลำตัว หรือลวดลายและสีของครีบ เช่น Blue cobra guppy – ปลาที่มีสีฟ้าและมีลวดลายบนลำตัวคล้ายหนังงู หรือ Yellow tuxedo guppy – ปลาที่มีสีเหลืองและมีลำตัวส่วนท้ายสีดำ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันปลาหางนกยูงที่นิยมเลี้ยงกันก็อย่าง ” ทักซิโด้ “, ” กร๊าซ “, “คอบร้า “, ” โมเสค ” , ” หางดาบ “, ” นีออน ” เป็นต้นครับ มาลองดูตัวอย่าง 2 – 3 สายพันธ์น่ะครับ
สายพันธุ์โมเสคหรือชิลี (Mosaic/Chili) – ลำตัวจะมีสีใดก็ได้ แต่ต้องไม่มีลวดลาย อาจมีความเงาแวววาว (แพลททีนั่ม) ได้ครีบหางมีลวดลายแบบโมเสค โดยลวดลายจะมีลักษณะเป็นแต้มใหญ่ ครีบหางอาจจะมีสีแดง เหลือง น้ำเงิน หรือสีใดก็ได้ครีบหลังควรมีลวดลายและสีที่สอดคล้องกับครีบหาง
สายพันธุ์ทักซิโด้ (Tuxedo/Half black) – ลำตัวจากบริเวณกึ่งกลางลำตัวไปสุดโคนหางมีสีดำหรือน้ำเงินเข้ม ลำตัวอาจจะมีความแวววาว (แพลททีนั่ม) ได้ แต่ส่วนของแพลททีนั่มไม่ควรปนเปื้อนอยู่ในช่วงสีดำ ครีบหางอาจเป็นสีพื้นหรือมีลวดลายครีบหลังควรมีสีและลวดลายที่สอดคล้องกับครีบหาง
สายพันธุ์คอบบร้าหรือสเน็คสกิน (Cobra or Snake skin) – ลำตัวมีลายจุดคล้ายหนังงู ไม่ควรเป็นลายแถบแบบม้าลาย ครีบหางมีลวดลาย ส่วนมากจะเป็นสีน้ำเงิน เหลือง แดง หรืออาจจะเป็นสีเดี่ยวก็ได้ ครีบหลังควรมีสีและลวดลายสอดคล้องกับครีบหาง ครีบหลังอาจจะมีขนาดเล็กกว่าครีบหลังของสายพันธุ์อื่นๆ หมายเหตุ สายพันธุ์กาแลคซี่และเมทเทิลจัดอยู่ในกลุ่มคอบบร้าได้ แต่สายพันธุ์เมดดูซ่า จะไม่จัดอยู่ในกลุ่มคอบบร้า
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ เป็นตัวอย่างคร่าวๆ ใครสนใจก็ลองหามาเลี้ยงดูได้น่ะครับเลี้ยงง่ายไม่ยุ่งยาก และสวยงามครับ ด้านล่างผมมีที่มาของข้อมูล เผื่อเป็นที่หาข้อมูลเพิ่มเติมนะครับ ตอนนี้ผมก็ไม่รู้ว่าพี่เก๋ แกจะไปหาปลามาลงขวดหรือยัง เดียวสักพักคงต้องแวะไปดูพร้อมทานอาหารอร่อยๆ กันอีกที ไปล่ะครับพูดถึงเรื่องกินก็หิวขึ้นมา คราวหน้าผมจะหาเรื่องราวน่าสนใจมาฝากอีกน่ะครับ ไปละคร้าบ อ๊าบ อ๊าบ …
ที่มาข้อมูล – www.fisheries.go.th, www.rachaplathong.com, www.arunasworld.com