หลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินเรื่องของ ยา ที่มีผลต่อ ตับ มาบ้างแล้ว โดยเฉพาะ พาราเซตตามอล ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ยาสามัญ ประจำบ้าน ที่มีไว้ใช้เพื่อลดไข้และบรรเทาอาการปวด
เนื่องจาก พาราเซตตามอล เป็น ยา ที่เข้าถึงได้ง่ายและไม่เป็นอันตราย แต่ในขณะเดียวกันหากเราใช้ยาผิดวิธี ใช้ยาพร่ำเพรื่อและเกินขนาด ก็อาจก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง จนถึงขั้นตับวายและเสียชีวิตได้
นอกจาก พาราเซตตามอล แล้ว ก็ยังมียาอีกมากกว่า 1,000 ชนิดที่ก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบ ผลข้างเคียงดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุอันดับแรกที่ทำให้ยาหลายชนิดถูกถอนและห้ามจำหน่าย จากสถิติพบว่าผู้ที่มีภาวะตับวายเฉียบพลัน กว่าร้อยละ 50 มีสาเหตุเกิดมาจากยา โดยคิดเป็นสาเหตุจากพาราเซตตามอล ร้อยละ 39 และยาอื่น ๆ อีกร้อยละ 11 ยาในกลุ่มนี้ได้แก่
- ยาปฏิชีวนะ (Ciprofloxacin, Erythromycin, Amoxicilin)
- ยาแก้ปวด แก้ข้ออักเสบ (Diclofenac)
- ยารักษาโรคหัวใจ (Aspirin, Amiodarone)
- ยากันชัก (Phenobarbital, Carbamazepine (Tegretol®), Valproate sodium (Depakin®), Phenytoin (Dilantin®))
- ยาลดไขมัน (Statins)
- ยาความดันโลหิต (Methyldopa)
- ยาจิตเวช (Chlorpromazine)
- ยารักษาเชื้อรา (Fluconazole)
- ยารักษาวัณโรค (Isoniazid, Rifampin, Pyrazinamide)
- ยารักษาโรคภูมิแพ้ในกลุ่ม ยาสเตียรอยด์
- ยาคุม ชนิดรับประทาน
- และยาสมุนไพร เป็นต้น
ซึ่งความรุนแรงในการทานยาแล้วก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบจะเพิ่มมากขึ้นใน ผู้สูงอายุ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง เอดส์ ตับแข็ง หรือเป็นโรคเกี่ยวกับตับทำงานผิดปกติ เนื่องจากตับจะทำหน้าที่ในการขับยาและสารพิษ หากตับทำหน้าที่บกพร่องก็จะทำให้มีการสะสมของยาและสารพิษส่วนเกินไว้มาก ส่งผลให้ตับอักเสบเฉียบพลันได้
โดยอาการที่พบบ่อยเมื่อเกิดภาวะตับอักเสบจากการทานยา คือ จุกเสียดแน่นชายโครงขวา อ่อนเพลียไม่มีแรง เป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระซีด และตัวเหลืองตาเหลือง หากท่านเป็นหนึ่งคนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงยากลุ่มที่มีผลต่อการอักเสบของตับได้ ท่านจำเป็นที่จะต้องดูแลและหันมาใส่ใจสุขภาพตนเองมากขึ้น โดยการตรวจสุขภาพตับเป็นประจำทุก 3 หรือ 6 เดือน เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวและรักษาได้ทันท่วงที
#คลินิก#แลบ#ตรวจ#เลือด#ปัสสาวะ#ร่างกาย#สุขภาพ#ประจำปี#ใบสั่ง#แพทย์#ก่อนเข้างาน#สมุทรสาคร#มหาชัย#ทีแอลซี#เฮลท์แลบ#ประจวบคีรีขันธ์#หัวหิน#หัวนา