หากเราอยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวังหรือเป็น เบาหวาน แล้ว เราควรทำอย่างไรต่อไป เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน
คุณรู้ไหม? นอกจากการให้ยามาทานในผู้ที่เป็น เบาหวาน แล้วนั้น แพทย์ก็ต้องทำการตรวจติดตามเพื่อปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยด้วย
เนื่องจากปัญหาเรื่องไตเสื่อม ตามัว มือ-เท้าชา มักมาจากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน การป้องกันโรคแทรกซ้อนเหล่านี้ จึงมุ่งไปที่การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงค่าปกติที่สุด แต่การประเมินผลด้วยการตรวจน้ำตาลในเลือดอย่างเดียวนั้นอาจไม่เพียงพอ จึงต้องมีการตรวจดังต่อไปนี้เพิ่มเข้ามา คือ
- FBS (Fasting Blood Sugar) ตรวจน้ำตาลในเลือด เนื่องจากหลังจากทานอาหารในคนปกติ น้ำตาลจะไม่สูงมากและจะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ในคนที่เป็นเบาหวานจะกลับกัน จึงต้องตรวจน้ำตาลในเลือดเพื่อให้แพทย์ประเมินความรุนแรงของโรคเบาหวานประกอบการจ่ายยา
- HbA1C เช็คระดับน้ำตาลสะสม เป็นการตรวจน้ำตาลที่เกาะกับโปรตีนในเม็ดเลือด และน้ำตาลจะอยู่ตามอายุขัยของเม็ดเลือด คือประมาณ 90 วัน ดังนั้นการตรวจรายการนี้จะทำให้ทราบว่าจริงๆแล้วตลอดสามเดือนนั้นเราคุมน้ำตาลได้ดีหรือไม่หรือพึ่งมาลดเอาตอนจะพบแพทย์
- Fructosamine เพื่อเสริมการทำนายความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
- BUN ,Creatinine เพื่อดูประสิทธิภาพของไต โดยเฉลี่ย โรคไตมักเกิดหลังจากเป็นโรคเบาหวานแล้วประมาณ 5-10 ปี เนื่องจากน้ำตาลที่สูงเกินไปจะสร้างความเสียหายที่ไต
- AST ,ALT ,ALP ดูประสิทธิภาพการทำงานของตับ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการจ่ายยา
- Urine Analysis ตรวจปัสสาวะ เพื่อเช็คโปรตีนไข่ขาว เนื่องจากระยะแรก ภาวะแทรกซ้อนทางไตจะไม่มีอาการ ฉะนั้นจะรู้ได้จากการตรวจปัสสาวะแล้วพบโปรตีนเท่านั้น การตรวจดังกล่าวจึงช่วยเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อนทางไตได้
- Lipid Profile ตรวจระดับไขมัน ร้อยละ 80% ผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีปัญหาเรื่องไขมันตามมา เพราะน้ำตาลที่สูงเกินจะถูกนำไปเก็บในรูปแบบของกรดไขมันในกระแสเลือด
- Blood Pressure ความดันโลหิต เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมักจะมีความดันโลหิตสูง และยิ่งมีความดันสูงจะยิ่งทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งจะส่งผลต่อหลอดเลือดหัวใจสมองและไตได้
- Microalbumin อย่างน้อยปีละครั้ง เป็นการตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ โดยปกติแล้วจะตรวจไม่พบโปรตีนในปัสสาวะ แต่หากมีการตรวจพบนั้นเป็นการบ่งบอกได้ว่าไตเริ่มมีปัญหาในการทำงาน เนื่องจากไตจะกรองโปรตีนกลับคืนสู่ร่างกาย ดังนั้น เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่วมกับความดันโลหิตสูง มันจะทำลายส่วนที่ทำหน้าที่กรองของเสียของไต นั่นจึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโปรตีนรั่วออกมากับปัสสาวะ
สำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวัง ช่วงนี้คุณควรควบคุมอาหาร บวกกับหมั่นออกกำลังกาย เนื่องจากเป็นช่วงที่เรายังสามารถควบคุมน้ำตาลให้มีค่าใกล้ปกติได้มากที่สุด
อาหารที่คุณควรงดหรือต้องเลี่ยง คือ อาหารที่มีรสหวาน ขนมหวานต่าง ๆ รวมไปถึงกลุ่มแป้ง ไม่ว่าจะอยู่ในผักหรือผลไม้ชนิดใด ๆ รวมไปถึงอาหารมัน ทอด ไขมันสูง ๆ แต่ที่สำคัญคือ เน้นทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ นะคะ
ทำไมเราถึงเน้นเรื่องการดูแลสุขภาพ ควบคุมอาหารและการตรวจติดตาม เพราะ การคุมอาหาร ออกกำลังกาย บวกกับมีวินัยในการทานยา จะทำให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่ดีได้