สวัสดีคะคุณผู้อ่านที่รัก เห็นหัวข้อบทความในครั้งนี้แล้วดิฉันว่าน่าจะสร้างความสนใจให้กับคุณผู้อ่านหลาย ๆ ท่านอย่างแน่นอนเลยใช่ไหมคะ แน่นอนคะว่าห้องน้ำสาธารณะเป็นสถานที่ที่มีผู้คนมาใช้บริการกันเป็นจำนวนมากต่อวัน จึงทำให้กลายเป็นเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ และแพร่กระจายเชื้อโรคจำนวนมาก แต่ในหลาย ๆ ครั้งเราก็หลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้ไม่ได้จริงไหมคะ แล้วอย่างนี้การ ใช้ห้องน้ำร่วมกัน ติดโรคได้จริงไหม? และควรจะทำอย่างไรจึงจะป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ เหล่านี้ได้กันดีล่ะ
ใช้ห้องน้ำร่วมกัน ติดโรค ได้จริงไหม?
เชื้อโรคที่มักพบในห้องน้ำสาธารณะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อหนองใน เชื้อเริม เป็นต้น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น เชื้ออุจจาระร่วง เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ เป็นต้น โดยเชื้อโรคเหล่านี้จะแฝงตัวอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของห้องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นที่ตัวชักโครก อ่างล้างมือ หรือแม้กระทั่งลูกบิดประตู แต่ช้าก่อนคะคุณผู้อ่านทุกท่าน เพราะถึงแม้เราจะได้รับเชื้อโรคไปก็ใช่ว่าจะมีโอกาสติดโรคนั้น ๆ เลยทันที หรือพูดให้ง่าย ๆ ก็คือโอกาสที่เราจะติดโรคร้ายแรงจากการใช้ห้องน้ำสาธารณะนั้นมีน้อยมาก ๆ หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจาก
- เชื้อโรคที่เราสัมผัสต้องมีปริมาณมากพอระดับหนึ่งจึงจะสามารถก่อโรคในคนได้
- เชื้อโรคเหล่านี้เมื่อออกมาจากร่างกายและเจอสภาวะแวดล้อมภายนอกที่ไม่เหมาะสมก็จะอ่อนแอ ตายง่าย เชื้อจึงมักมีชีวิตอยู่ไม่นานพอที่จะติดไปยังผู้อื่น
- หนทางที่เชื้อจะเข้าสู่ร่างกาย โดยหากเราไม่มีแผลสดที่บริเวณผิวหนังที่เราไปสัมผัสเชื้อ หรือหลังจากเสร็จภารกิจแล้วล้างมือให้สะอาดทันทีก่อนจะไปหยิบจับอะไรเข้าปาก ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะติดเชื้อนั้น ๆ เพราะผิวหนังของเราถือเป็นปราการชั้นดีที่จะป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย
แต่เพื่อสุขอนามัยที่ดีและลดอัตราความเสี่ยงที่เราอาจจะติดเชื้อโรคจากการใช้ห้องน้ำสาธารณะ วันนี้ดิฉันได้แถมเทคนิคการใช้ห้องน้ำสาธารณะอย่างปลอดภัยมาฝากให้คุณผู้อ่านที่รักกันด้วยนะคะ
- ทำความสะอาดที่รองนั่งด้วยกระดาษทิชชูแบบเปียกชนิดฆ่าเชื้อ หรือพกกระดาษรองนั่งไปปูบนฝาชักโครกก่อนทำธุระ และระวังอย่าให้แผ่นรองเปียกน้ำเด็ดขาด เพราะเชื้อโรคอาจจะปะปนมากับน้ำในชักโครกได้
- ไม่เหยียบบนฝารองนั่ง เพราะการทำแบบนี้จะเพิ่มโอกาสที่น้ำในโถชักโครกซึ่งเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคชั้นดีจะกระเด็นมาโดนตัวท่านเองได้มากกว่าการนั่งแบบธรรมดา
- การทำความสะอาดหลังเสร็จกิจ ไม่แนะนำให้ตักน้ำในส่วนที่มีอยู่ในถังเดิมใช้ แต่ควรรองจากก๊อกโดยตรง เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่สะสมอยู่ในถังน้ำ หรือหากเป็นสายฉีดก็ควรฉีดน้ำให้ไหลทิ้งสักเล็กน้อยก่อน เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ปะปนบริเวณรอบ ๆ สายฉีด
- ล้างมือทุกครั้งหลังเสร็จธุระโดยเริ่มต้นล้างมือด้วยน้ำสะอาดตั้งแต่มือแขนไปจนถึงข้อศอก ใช้มือแต่ละข้างถูบริเวณหลังมือของอีกข้างหนึ่ง แล้วถูฝ่ามือทั้งสองข้างขัดสิ่งสกปรกบริเวณซอกเล็บ ข้อนิ้วและง่ามมือ ล้างสบู่ออกด้วยน้ำสะอาด และเช็ดมือให้แห้งด้วยกระดาษเช็ดมือ หากไม่มีสบู่ ก็ใช้น้ำสะอาดล้างซ้ำหลาย ๆ ครั้ง
เพียงเท่านี้เราก็สามารถใช้ห้องน้ำสาธารณะได้อย่างปลอดภัย สบายใจ หายห่วงจากการติดเชื้อโรค และยังเป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดปริมาณเชื้อโรคในห้องน้ำสาธารณะ อีกทั้งยังเป็นการสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับตนเอง และผู้ที่มาใช้บริการห้องน้ำคนอื่น ๆ อีกด้วยเช่นกัน
สนใจการตรวจสุขภาพสอบถามได้ที่ healthlabclinic หรือ มหาชัยทีแแอลซี