การเลี้ยงดูฟูมฟักลูกน้อยให้เติบโตอย่างสมบูรณ์ทั้งกายและใจเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนคาดหวัง แม้ไม่ยาก แต่ก็มีเรื่องที่พึงระวังมากมาย การกล่าวบางคำตามความเคยชิน หรืออารมณ์ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อพัฒนาการของเจ้าตัวน้อยมากทีเดียว วันนี้เราจึงนำสิ่งที่ไม่ควรกล่าวกับลูกน้อยมาฝากกัน
1.“อย่าเพิ่งยุ่ง”
แม้จะรักเจ้าตัวน้อยมากเพียงใด แต่บางครั้งการต้องยุ่งดูแลเขาไม่ได้หยุดก็อาจทำให้หงุดหงิด และทำให้หลุดปากว่า “อย่าเพิ่งกวนใจ” หรือ “พ่อหรือแม่ ยุ่งอยู่” ออกไป แต่การกล่าวเช่นนี้บ่อยครั้ง จะทำให้เจ้าตัวน้อยตีความผิดได้ว่าคุณไม่เต็มใจรับฟัง หรือเล่นกับเขา และอาจส่งผลให้เขาไม่อยากบอกเรื่องต่างๆ ให้คุณฟังต่อไป เพราะคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่สนใจ
ฉะนั้นหากคุณยุ่ง หรือไม่อยู่ในอารมณ์ที่พร้อมรับมือเจ้าตัวเล็ก ควรหาคนมาช่วยดูแลลูกแทน ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ หรือคนในบ้าน แล้วจัดการภารกิจของตัวเองให้เรียบร้อย แต่หากลูกโตและมีเหตุผลเพียงพอ อาจใช้วิธีบอกลูกล่วงหน้าว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องทำอะไรให้เรียบร้อยเสียก่อน เพื่อหัดให้เขารอคอย และเข้าใจว่าพ่อแม่ก็มีสิ่งที่ต้องทำนอกจากการดูแลเขาบ้าง เพื่อไม่ให้ต้องเครียดและมาปล่อยอารมณ์กับลูก
2. “ลูกช่าง…”
การตีตราว่าลูกเป็นคนอย่างไร เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำเลย ไม่ว่าจะเป็น “ทำไมลูกร้ายจัง” หรือ “ขี้เกียจจริง” เป็นต้น เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าถูกตำหนิ และขาดความเชื่อมั่นที่จะเป็นตัวของตัวเอง หากต้องดุ ควรใช้การดุอย่างมีเหตุผล และอธิบายประกอบให้ชัดเจน
ในทางตรงกันข้าม การชมเชยก็ต้องทำอย่างเหมาะสม เพราะผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าบางคร้้ง แม้จะเป็นการชมว่า “ฉลาด” แต่อาจกลายเป็นความกดดันให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกว่าต้องเก่งคุณพ่อคุณแม่จึงจะรักก็เป็นได้ อาจกล่าวว่าลูกตั้งใจได้ดีจัง หรือมีความพยายามดีมาก เพื่อให้เขารู้สึกอยากทำให้ดีต่อไป แต่ยังมีช่องว่างสำหรับความผิดพลาดได้
3. “อย่า…”
ไม่ว่าจะเป็น “อย่าเศร้า” “อย่าร้องไห้” “อย่ากลัวไปเลย” หรือ “อย่าทำตัวเป็นเด็กๆ” เพราะการร้องไห้เป็นการแสดงออกของเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่ยังพูดสื่อสารความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ นอกจากนี้เด็กยังไม่เคยชินกับการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความไม่มั่นใจ จึงต้องการการปกป้องของคุณพ่อคุณแม่ เพราะฉะนั้นการกล่าวในเชิงห้ามนั้น ไม่ช่วยให้ลูกน้อยเข้าใจได้ แต่ควรอธิบายให้เขาเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เข้าใจคำเรียกความรู้สึกเหล่านั้น และเป็นกำลังใจให้ลูกมากกว่า
4. การกล่าวเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น
เป็นเรื่องธรรมชาติที่คุณพ่อคุณแม่จะเทียบลูกกับคนอื่นๆ รอบตัว แต่การเปรียบเทียบลูกออกมาให้เจ้าตัวน้อยได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลการเรียน ความสามารถ หรือการปฏิบัติตน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนของเขาหรือคนในครอบครัวล้วนไม่เหมาะสม เพราะจะเป็นการลดความมั่นใจที่จะเป็นตัวเองของลูกน้อย และเด็กแต่ละคนย่อมมีความสามารถที่แตกต่างกันไป หากต้องการให้ลูกทำอะไร หรือปฏิบัติตนเช่นไร ควรพูดคุยกับเขาตรงๆ อย่างมีเหตุผล หรือจะใช้วิธีชมเชยเมื่อเขาทำได้ดีเพื่อกระตุ้นให้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ทำเป็นงดี
5. คำขู่
คำขู่ ไม่ว่าจะเป็น “ถ้าไม่หยุดจะ…” “ถ้า…จะตี” หรือแม้แต่การหลอกว่าผีจะหลอก หรือจะให้อีกฝ่าย (คุณพ่อหรือคุณแม่) กลับมาจัดการ ด้วยคำขู่มักเกิดจากความหงุดหงิดหรือไม่ได้ดังใจของคุณพ่อคุณแม่ จึงจัดเป็นการแสดงอารมณ์ไม่พอใจอย่างหนึ่ง ที่ไม่ค่อยเป็นประโยชน์ แถมยังจะทำให้การดุหมดความศักดิ์สิทธิ์ลงได้ นอกจากนี้ลูกอาจจะจำคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ไปใช้ต่อ ซึ่งไม่น่ารัก และไม่เหมาะกับวัยของเขาเลย
หากต้องการให้ลูกทำอะไรจึงควรคุยด้วยเหตุผลมากกว่า แต่หากเขาทำไม่ถูกต้องจริงๆ ก็ต้องลงโทษกันอย่างเหมาะสม แต่ไม่รุนแรงเกินไป ที่สำคัญคือต้องอธิบายเหตุผลให้ชัดเจนให้ลูกน้อยเข้าใจกติกาในทันที หากทิ้งเวลานานไปลูกอาจลืมความของตัวเองไปแล้วก็ได้
6. “รีบเข้า”
เมื่อมีเจ้าตัวน้อยคุณคงต้องเริ่มหัดเผื่อเวลา เพราะเจ้าตัวน้อยยังเร่งรีบทำอะไรด้วยตัวเองไม่เป็น และยังต้องการให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยเหลือในการทำสิ่งต่างๆ การออกคำสั่งในสิ่งที่ลูกยังทำไม่ได้เป็นการทำให้เจ้าตัวน้อยเครียดอย่างไม่เหมาะสม ที่สำคัญ น้ำเสียงยามคุณเร่งรีบ หรือท่าทางเท้าสะเอว นิ่วหน้า ยังอาจทำให้ลูกหวั่นใจและรู้สึกผิดได้ โดยที่ไม่ช่วยให้อะไรๆ เร็วขึ้นเลย
หากต้องการให้ลูกทำอะไรเร็วขึ้นอาจเล่นกันเป็นเกม หรือจัดระเบียบให้ลูกทำสิ่งต่างๆ ซ้ำๆ เป็นประจำ จะช่วยให้เจ้าตัวน้อยเร็วขึ้นได้
7.“เก่งมาก” “เด็กดี”
การชมเชยเจ้าตัวน้อยฟังดูน่าจะเป็นเรื่องดี เพราะเป็นหนึ่งในเครื่องมือทรงพลังที่พ่อแม่มีในมือ ที่จะสนับสนุนให้ลูกน้อยทำสิ่งต่างๆ แต่การชมเชยที่มากเกินไป บ่อยเกินไป อาจทำให้คุณค่าของคำชมลดน้อยลง จึงควรชมเชยเมื่อเจ้าตัวน้อยทำสิ่งที่ถูกต้อง หรือดีจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่ลูกทำทุกวัน และควรทำให้ติดเป็นนิสัยอยู่แล้ว (ยกเว้นเมื่อเป็นครั้งแรกที่เขาทำได้สำเร็จ) อย่างการดื่มนมหมดแก้ว หรือระบายสี แต่หากสิ่งที่เขาวาดหรือระบายนั้นน่าชมเชยก็ควรชมให้เจาะจง เช่นวันนี้ใช้สีสวยจัง เป็นต้น
อาจจะเป็นคำพูดสั้นๆแค่บางคำ แต่สำหรับเจ้าตัวน้อย อาจจะมีผลต่อความรู้สึกของเขามากกว่าที่คุณคิดก็ได้
ขอบคุณเรื่องราวดี ๆ จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการค่ะ