ตรวจหาเชื้อ HIV หากคุณเป็นหนึ่งคนที่ยังคงสงสัยเกี่ยวกับการตรวจหาการติดเชื้อไวรัส HIV ?
หลาย ๆ ท่านที่มีความเสี่ยง หรือ คนใกล้ชิดมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV คงจะทราบว่าในปัจจุบันที่วิทยาการทางการแพทย์ถูกพัฒนากันอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดวิธีการตรวจหาการติดเชื้อไวรัส HIV กันมากมายหลายวิธี ที่แตกต่างกันในเรื่องของราคา และความไวในการตรวจหาการติดเชื้อ แล้วอย่างนี้หากเรากำลังกังวลใจว่าเราอาจเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV หรือต้องการหาข้อมูลให้กับคนใกล้ชิด ว่าแต่ละวิธีมีข้อดีต่างกันอย่างไร แล้วเราควรจะเลือกตรวจด้วยวิธีไหน
เพื่อคุณผู้อ่านที่รักทั้งหลายจะได้คลายข้อสงสัย และความกังวลใจได้บ้าง ครั้งนี้ดิฉันจึงได้รวบรวม และสรุปความสำคัญ และความแตกต่างในการตรวจหาการติดเชื้อ HIV มาเสนอให้คุณผู้อ่านที่รักทั้งหลายได้คลายความสงสัยลง ไปอ่านพร้อมกันเลยดีกว่าคะ
ตรวจหา เชื้อ HIV
HIV (Human Immunodeficiency Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะแบ่งตัว และเข้าทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสโดยทั่วไประบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะทำหน้าที่สร้างภูมิเพื่อต่อต้านการติดเชื้อไวรัสนั้น ๆ โดยต้องอาศัยเซลล์หลายชนิดที่สำคัญได้แก่เซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟซัย ชนิด CD4 ซึ่งเป็นเซลล์ที่เชื้อ HIV ชอบและตรงเข้าไปทำลาย เมื่อเซลล์ CD4 ถูกทำลายโดยเชื้อที่เพิ่มเป็นจำนวนมากจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง โดยผู้ที่ติดเชื้อ HIV สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ระยะ
- ระยะแรก เป็นระยะที่ไม่มีอาการ ซึ่งอยู่ในภาวะเริ่มติดเชื้อ และเมื่อเวลาผ่านไป 5–7 ปี จะเข้าสู่
- ระยะที่สอง จะเริ่มมีอาการ เช่น มีลักษณะของตุ่มขึ้นตามร่างกาย มีเชื้อราในปาก งูสวัด เป็นต้น และหลังจากระยะที่สองจะใช้เวลาเพียง 1–2 ปี ก็จะเข้าสู่
- ระยะที่สาม ซึ่งเป็นขั้นรุนแรง หรือเรียกว่าโรคเอดส์เต็มขั้น (AIDS, Acquired Immune Deficiency Syndrome) และจากภูมิคุ้มกันที่ต่ำลงทำให้ผู้ป่วยโรคเอดส์มักจะเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic Infections) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต เช่น โรคปอดบวม โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และมะเร็งบางชนิด
ปัจจุบันพบว่าเชื้อ HIV มีด้วยกัน 2 ชนิด คือ HIV-1 ที่พบได้ทั่วโลก และ HIV-2 ที่พบส่วนมากทางแถบแอฟริกาตะวันตก แต่ HIV ทั้งสองชนิดมีการดำเนินของโรคไม่แตกต่างกัน ดังนั้นการรักษาหรือประคับประคองอาการของผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือ การตรวจหาการติดเชื้อให้ไวที่สุด เพื่อเข้ารับการรักษาและควบคุมอัตราการเพิ่มปริมาณของเชื้อ HIV ตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งปัจจุบันสามารถแบ่งวิธีตรวจหาการติดเชื้อ HIV ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ดังนี้
การตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ (Antibody) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจการติดเชื้อ HIV มาตรฐานที่ใช้ในห้องปฏิบัติการณ์ทางการแพทย์ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน โดยจะตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้ก็ต่อเมื่อมีการรับเชื้อเข้าไปในร่างกายแล้วอย่างน้อยเป็นเวลา 1 เดือน
การตรวจหาส่วนประกอบพันธุกรรมของเชื้อไวรัส (NAAT, Nucleic Acid Amplification) ซึ่งสามารถตรวจหาการติดเชื้อได้หลังจากมีการรับเชื้อมาแล้วอย่างน้อยเป็นเวลา 5 วัน แต่เนื่องจากเป็นวิธีที่มีราคาต้นทุนสูง ทำให้มีบริการเฉพาะโรงพยาบาล สถานพยาบาล และคลินิกเอกชนเพียงบางแห่งเท่านั้น
อย่างไรก็ตามหากเลือกเข้ารับการตรวจด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งข้างต้นแล้ว ตามหลักขององค์การอนามัยโลก(WHO)แนะนำให้ทำการตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อครบ 3 เดือนหลังจากมีโอกาสเสี่ยงครั้งล่าสุด หรือจะเลือกตรวจเพียงครั้งเดียวที่ 3 เดือนเลยก็ได้คะ เพราะให้ผลที่แน่นอนกว่า ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน และไม่สายไปแน่นอนที่จะเข้ารับการรักษาหากผลตรวจออกมาเป็นบวกหรือติดเชื้อ HIV สุดท้ายนี้ดิฉันหวังว่าบทความครั้งนี้น่าจะช่วยคลายความกังวลสงสัยในการเข้ารับการตรวจหาการติดเชื้อ HIV ให้กับคุณผู้อ่านที่รักทั้งหลายได้ไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ