ช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับ โรคซึมเศร้า ออกมาให้เห็นกันแทบทุกวัน วันนี้ผมเลยอยากจะนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับโรคซึมเศร้านี้สักหน่อย เพราะในปัจจุบันยังมีหลายคนที่ไม่เข้าใจหรือเข้าใจแบบผิด ๆ เกี่ยวกับโรคนี้กันอยู่มาก
โรคซึมเศร้า ขึ้นชื่อว่า “โรค” นั่นก็หมายถึงมีความผิดปกติทางการแพทย์ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาดูแลเพื่อบรรเทาอาการนั้นๆ นั่นทำให้โรคซึมเศร้าต่างจากภาวะเศร้าหรือภาวะทางอารมณ์อื่นๆ ที่ถ้าได้รับกำลังใจ ความเข้าใจ หรือเหตุการณ์รอบตัวคลี่คลายลง อารมณ์เศร้าก็จะหายไป แต่โรคซึมเศร้าไม่เป็นเช่นนั้น
โรคซึมเศร้า สามารถพบได้ในบุคคลทุกเพศ ทุกวัย ทุกเศรษฐสถานะ พบในผู้หญิงมาก กว่าผู้ชาย (ญ:ช = 2:1) โรคนี้ไม่ได้ทำอันตรายต่อร่างกายจนทำให้เสียชีวิต แต่ความคิดที่ผิด ปกติจากโรคซึมเศร้า สามารถทำให้ผู้ป่วยมีมุมมองต่อตัวเองและคนอื่นผิดไป จนทำร้ายตนเองได้ ดังนั้นจึงเป็นความสูญเสียที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะว่าโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด โรคซึมเศร้า
- กรรมพันธุ์ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่อาจปฏิเสธได้เพราะโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่าเลยทีเดียว
- สารเคมีหรือสารสื่อประสาทในสมอง สารที่สำคัญ เช่น ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติที่เซลล์รับสารเหล่านี้
- ลักษณะนิสัย เช่น เป็นคนมองโลกในแง่ร้าย หรือมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ
โรคซึมเศร้า อาจจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรืออย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น มีเหตุการณ์ที่กระทบต่อสภาพจิตใจรุนแรงมากน้อยเพียงใด บุคลิกลักษณะนิสัยเดิมของคนๆ นั้น คนรอบตัวให้ความช่วยเหลือมากน้อยเพียงใด เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่อาจเกิดขึ้นในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า ได้แก่
- อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น เศร้า เสียใจ ร้องไห้บ่อยแม้แต่กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็หวั่นไหวได้ง่าย ไม่สดใสเหมือนเดิม หงุดหงิดง่าย เป็นต้น
- ความคิดเปลี่ยนแปลง มักจะมองอะไรก็แย่ไปหมด มองเห็นแต่ความผิดพลาดและความล้มเหลวของตนเอง ไม่มั่นใจในตนเอง รู้สึกไร้ค่า หรืออาจคิดทำร้ายตนเอง
- สมาธิ ความจำแย่ลง
- มีอาการทางร่างกาย ที่พบบ่อย เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว เป็นต้น
- ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นแย่ลง ไม่ร่าเริง เก็บตัว ไม่พูดคุยกับคนอื่น หงุดหงิดง่าย น้อยใจง่าย
- อาจพบอาการโรคจิต เช่น ประสาทหลอน หูแว่ว วิตกกังวลตลอดเวลา เป็นต้น
ถ้าท่านหรือคนที่ท่านรู้จักมีอาการคล้ายกับที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ การไปพบจิตแพทย์และรับการรักษาอย่างถูกต้อง หลายคนอายที่จะไปพบจิตแพทย์เพียงเพราะไม่ยอมรับตนเอง หรือกลัวที่จะถูกคนอื่นมองว่าเป็นโรคจิต ทั้งๆ ที่นี่คือสิ่งที่ควรทำที่สุด การละเลยที่จะรับการรักษาอาจทำให้อาการแย่ลง การรักษาและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องจะช่วยทำให้อาการของโรคซึมเศร้าดีขึ้น หรืออาจรักษาให้หายขาดได้
ยารักษาโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่จะส่งผลกับระบบของสารเคมีหรือสารสื่อประสาทในสมอง ดังนั้นในโอกาสหน้าผมจะขอนำเสนอถึงเรื่องของสารเคมีหรือสารสื่อประสาทในสมองให้ละเอียดมากขึ้นต่อไป แล้วไว้พบกันครั้งหน้าครับ