ถ้าพูดถึงโรคติดต่อทางเพศ หลายคนคงไม่ลืมที่จะคิดถึง “ ซิฟิลิส ” โรคนี้หายไปนานหลายปี
ในระยะหลังได้กลับมาระบาดในวงกว้างมากขึ้น ซิฟิลิส ถือว่าเป็น โรคหนองในเทียม อีกชนิดหนึ่ง แต่อาจจะยังไม่รู้ถึงสาเหตุ และความรุนแรงของการเกิดโรคนี้ วันนี้เราจะมาเขียนเรื่องโรคนี้ เพื่อให้คุณผู้อ่านได้รู้จักกันมากขึ้นนะคะ
โรค ซิฟิลิส (Syphilis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema polidum เกิดได้ที่บริเวณช่องคลอด ทวารหนัก และปาก หากไม่รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ ส่งผลต่อระบบประสาท หัวใจ สมอง ระบบต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยนะคะ
การติดต่อของโรค สามารถติดต่อผ่านทางปาก เช่น การจูบ ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การทำออรัลเซ็กส์ นอกจากนี้ยังติดต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์ การรับเลือดจากผู้ติดเชื้อ และการสัมผัสแผลผู้ป่วยโดยตรง การสัมผัสแผล หรือเยื่อเมือกของผู้ป่วย
อาการของโรค ซิฟิลิส แบ่งออกเป็น 4 ระยะด้วยกัน
ระยะที่ 1 หรือระยะเป็นแผล มีตุ่มแผลเล็ก ๆ สีแดงขอบนูนแข็ง เรียก แผลริมแข็ง (Chancre) กดไม่เจ็บ ขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ ปาก ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ เยื่อบุตา หรือเยื่อบุช่องคลอดภายใน 3 สัปดาห์หลังติดเชื้อ สามารถหายได้เอง แต่ยังมีเชื้อแฝงอยู่หากไม่ทำการรักษา เตรียมพัฒนาสู่ระยะที่ 2
ระยะที่ 2 หรือระยะออกดอก หลังติดเชื้อ 3-8 สัปดาห์ เป็นระยะที่เชื้อซิฟิลิสแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือดตามอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายหลายระบบ เกิดรอยโรคลักษณะผื่นราบ ผื่นนูนหนามีสะเก็ด ผื่นชนิดเป็นแผล หรือแผลหลุมกดไม่เจ็บและไม่คัน กระจายตัวทั่วร่างกาย อวัยวะเพศ ฝ่ามือฝ่าเท้า จึงเรียกว่า “ระยะออกดอก” ร่วมกับอาการต่อมน้ำเหลืองโต มีไข้ เจ็บคอ เหนื่อยล้า น้ำหนักลด ปวดข้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เชื้อราในปาก ผมร่วงทั่วศีรษะหรือร่วงเป็นหย่อม ๆ ในระยะนี้ หากตรวจเลือด มักมีผลเลือดเป็นบวก จากนั้นประมาณ 2-3 สัปดาห์อาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ หายไปหรือเป็น ๆ หาย ๆ โดยเชื้อจะยังคงแฝงเร้นในร่างกายและจะพัฒนาเข้าสู่ระยะแฝง
ระยะที่ 3 ระยะแฝง หรือ ระยะสงบทางคลินิก เพราะแทบจะไม่แสดงอาการอะไรเลย ต่อให้มีก็จะไม่มาก เป็น ๆ หาย ๆ เป็นระยะที่มีการดำเนินโรคยาวนานที่สุด โดยเชื้อสามารถแฝงในร่างกายได้นานกว่า 20 ปี หากไม่ได้มีการรักษา จะพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 4
ระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย เป็นระยะที่เชื้อซิฟิลิสในต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือด เข้าไปทำลายอวัยวะภาย ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบต่าง ๆ เช่น ระบบประสาทและสมอง หัวใจและหลอดเลือด ตับ ตา กระดูกและข้อ จนเสียชีวิตได้
การตรวจวินิจฉัย ซิฟิลิส ปัจจุบันใช้อยู่ 3 วิธีค่ะ
1. การตรวจเลือด เพื่อตรวจหาแอนติบอดี้หรือภูมิคุ้มก้นต่อโรคซิฟิลิสในระยะที่ 1 และ 2 เป็นวิธีที่มีความแม่นยำและทราบผลรวดเร็ว ซึ่งมีการตรวจอยู่ 2 หลักการ
1.1 การตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันที่ไม่เจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส เช่น การตรวจ VDRL หรือ RPR
1.2 การตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันที่เจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส เช่น การตรวจ FTA-ABS, TPHA, TPPA และ ICT
2. การตรวจน้ำไขสันหลัง ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายซิฟิลิสในระยะที่ 3 ที่มีอาการทางระบบประสาทและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ แพทย์จะพิจารณาการเจาะน้ำไขสันหลังเพื่อยืนยันโรค
3. การส่องกล้อง Dark-field (Dark-field microscopic test: DF) เพื่อตรวจหาเชื้อซิฟิลิสโดยการเก็บตัวอย่างเซลล์บนผื่นผิวหนัง หรือหนองบริเวณบาดแผลในระยะที่ 1
โรค ซิฟิลิส สามารถรักษาให้หายขาดได้ก็จริง แต่การไม่ติดเชื้อก็น่าจะดีกว่านะคะ โรคนี้ป้องกันได้ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากไม่มั่นใจ หรือสวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ รวมถึงการสังเกตอาการ และตรวจคัดกรองเมื่อมีความเสี่ยงนะคะ