วันนี้มาแนะนำให้รู้จักวายร้ายตัวจิ๋ว Small Dense LDL จะร้ายแค่ไหนมาลองอ่านกันดูนะคะ
โรคหัวใจและหลอดเลือด (Coronary Artery Disease) ที่จำแนกออกเป็น 2 ภาวะหลัก ๆ คือโรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งส่วนมากคือ Stroke นั่นเอง โดยทั้ง 2 ภาวะนี้ เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตอันดับ 1 และ 3 ของโลก (คนไทยมีอัตราการป่วย 515 คน ต่อประชากร 100,000 คน) บางคนบอกว่า เป็นแล้วตายเลยไม่กลัว แต่ถ้าเป็นแล้วไม่ตาย เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต..ไม่เอาดีกว่า
หลายคนรู้ว่าอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรค NCDs ชนิดนี้ เช่น อายุมาก ไขมันในเลือดสูง มีกรรมพันธุ์คนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ความเครียด สูบบุหรี่ โรคเบาหวาน โรคความดัน และอื่น ๆ
แต่วันนี้แอดมินจะมาบอกถึงอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่มีงานวิจัยออกมาบอกว่า สาเหตุที่สำคัญมาก ๆ คือเจ้าไขมันชนิด LDL ที่มีขนาดเล็กที่เรียกว่า small density LDL (sdLDL) หรืออีกชื่อคือ Type B LDL particle และวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเจ้าโมเลกุลขนาดเล็กแต่ร้ายกาจตัวนี้กันค่ะ
.
เดิมทีเราเข้าใจกันว่าถ้ามีไขมันไม่ดี หรือ LDL-cholesterol สูง มีโอกาสที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพราะทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ไม่ยืดหยุ่น แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่นั้น “LDL-cholesterol สูงไม่ได้หมายถึงว่าจะมีความเสี่ยงสูง หรือ LDL-cholesterol ต่ำ แล้วจะมีความเสี่ยงต่ำเสมอไป”
เพราะ LDL-cholesterol ประกอบด้วยหลายรูปแบบ ทั้งโมเลกุลขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก และเจ้าโมเลกุลที่เล็ก หรือ small density LDL นี่แหละ เนื่องจากมันมีขนาดเล็กมาก มันจึงสามารถแทรกตัวเข้าไปในผนังหลอดเลือดได้แบบง่าย ๆ ถูกออกซิไดซ์ได้ง่าย เพราะมีวิตามินดีในโมเลกุลน้อย (วิตามินดี ช่วยต้านการถูกออกซิไดซ์) และด้วยความที่มันตัวเล็กจิ๋ว จึงจับกับ LDL receptor ได้ไม่ดี จึงนำเข้าสู่เซลล์ไม่ได้ ก็เลยลอยเท้งเต้งในกระแสเลือดนานกว่าชาวบ้านเขา ทำให้มีเวลาในการแทรกเข้าผนังหลอดเลือดมากขึ้น
.
ผนังหลอดเลือด เมื่อถูก sdLDL แทรกเข้าผนังเซลล์มากขึ้นเกิดผนังหลอดเลือดหนา เป็นก้อนไขมันสะสม ทำให้ปริแตกได้ง่ายขึ้น แล้วไปกระตุ้นให้เกล็ดเลือดทำงาน เกิดลิ่มเลือดอุดตัน…นั่นไง เกิดเรื่องแล้วล่ะ เป็นเรื่องขนาดนี้ AACE หรือ American Association of Clinical Endocrinology 2020 จึงแนะนำให้มีการตรวจเจ้าไขมันจิ๋ว sdLDL เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้แม่นยำมากขึ้น มากกว่าการตรวจแค่ชุดไขมัน และหรือ LDL-Cholesterol เท่านั้น
.
ถ้าใครที่ยังกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องตรวจเพิ่มเติม คุณหมอบางท่านให้คำแนะนำว่า ให้ตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วยชุดไขมัน (Lipid profile) ก่อน แล้วนำค่า Triglyceride ที่ได้มาหารด้วยค่า HDL-cholesterol (ไขมันดี) ถ้าค่าที่ได้น้อยกว่า 2 มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดต่ำ แต่ถ้าตั้งแต่ 2 ขึ้นไป การตรวจ sdLDL จะเข้ามามีบทบาทสำคัญทันที
มาถึงตรงนี้กลับมามองตัวเองแล้วลองพิจารณาว่า เราควรตรวจหรือไม่ ดูเกณฑ์อย่างไรบ้าง
– ผู้ที่มีไขมัน Triglyceride สูง มากกว่า 150 mg/dL.
– ผู้ที่มีไขมัน HDL-cholesterol ต่ำกว่า 40 mg/dL.
– ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือดื้ออินซูลิน การดื้ออินซูลิน มีความเสี่ยงต่อการมี sdLDL สูงเช่นกัน
– มีโรคประจำตัวอื่น ๆ เป็นไขมันในเลือดสูง ความดันสูง
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงรู้จักเจ้า sdLDL มากขึ้น และสำหรับการตรวจสุขภาพ อาจจะต้องพิจารณาการตรวจรายการนี้เพิ่มเติมนะคะ