สวัสดีค่ะคุณผู้อ่าน ช่วงนี้มีเหตุการณ์ร้ายๆ เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราค่อนข้างมากดิฉันหวังว่าคุณผู้อ่านที่รักของดิฉันจะปลอดภัยและใช้ชีวิตกันได้ตามปกติสุขนะคะ ซึ่งการมีสุขภาพจิตที่ดีก็ต้องควบคู่กับการมีสุขภาพกายที่ดีเช่นกัน ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปี ปีละครั้งเป็นเรื่องจำเป็นในการติดตามสภาวะการทำงานภายในร่างกาย
ในครั้งนี้ดิฉันจะขอยกเรื่องความสำคัญในการ ตรวจฉี่ หรือ ตรวจปัสสาวะ หลายคนอาจจะสงสัยว่าการตรวจปัสสาวะสำคัญอย่างไร จริงแล้วการตรวจปัสสาวะสามารถบ่งบอกโรคได้หลายชนิด เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น ว่าแล้วก็เข้าเรื่องกันเลยดีกว่าค่ะ
ตรวจฉี่ ดีอย่างไร
ปัสสาวะเป็นของเสียจากเลือดที่ผ่านการกรองจากไตแล้วถูกขับออกมาจากร่างกาย ในปัสสาวะจะประกอบด้วยน้ำ 95% ยูเรีย 2.5 % และเป็นสารอื่น ๆ อีก 2.5 % โดยปกติเราจะปัสสาวะกันวันละ 3 – 5 ครั้ง ในตอนกลางวัน โดยปริมาตรอยู่ที่วันละ 1 – 2 ลิตร สำหรับการตรวจปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่
การตรวจทางกายภาพ เป็นการตรวจดูปริมาตร สี กลิ่น ความขุ่น และความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ
- ปัสสาวะปกติจะมีสีเหลืองอำพัน แต่หากสีปัสสาวะเปลี่ยนไปจะบอกได้ถึงความผิดปกติของไต หรือภาวะผิดปกติของระบบเผาผลาญได้
- ปัสสาวะที่ถ่ายใหม่ ๆ ปกติแล้วมักจะใส แต่อาจขุ่นได้เมื่อตั้งทิ้งไว้ ส่วนความขุ่นของปัสสาวะที่เกิดจากความผิดปกติอาจเพราะมีเม็ดเลือดขาว แบคทีเรีย หรือไขมันจำนวนมากในปัสสาวะ
- ความถ่วงจำเพาะ จะบ่งบอกถึงความสามารถในการควบคุมความเข้มข้นของของเหลวในร่างกายของไต โดยค่าปกติอยู่ที่ 1.005-1.030
การตรวจทางเคมี ที่ช่วยบ่งบอกภาวะความผิดปกติของร่างกายเบื้องต้นได้ ประกอบด้วย
- การตรวจค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ที่บอกความสามารถในการทำงานของไตเช่นกัน โดยค่าปกติอยู่ที่ 5 – 8
- การตรวจหาสารเคมีต่าง ๆ ในปัสสาวะ โดยปกติค่าพวกนี้ควรจะตรวจไม่พบหรือเป็น Negative แต่หากสภาวะในร่างกายมีปัญหา เช่น ในผู้ป่วยไตเรื้อรัง หรือในผู้สูงอายุอาจพบโปรตีนหลุดออกมากับปัสสาวะได้ หรือในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ดีก็จะพบน้ำตาลส่วนเกินออกมากับปัสสาวะได้เช่นกัน
การตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการตรวจปัสสาวะที่ช่วยให้การตรวจวินิจฉัยแม่นยำยิ่งขึ้น เพราะในบางครั้งการตรวจทางกายภาพและทางเคมีอาจไม่พบสิ่งผิดปกติใดใด แต่เมื่อตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์อาจจะพบสิ่งผิดปกติได้ โดยสิ่งที่สามารถพบได้ในตะกอนปัสสาวะ เช่น
- เซลล์เยื่อบุในระบบทางเดินปัสสาวะ ที่บ่งบองถึงการอักเสบหรือความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ
- เม็ดเลือดขาว, แบคทีเรียจำนวนมาก เชื้อรา จะแสดงถึงมีภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือกรวยไตอักเสบ เป็นต้น
- เม็ดเลือดแดง ที่พบในปัสสาวะอาจจะมาจากอุบัติเหตุจากการกระแทก มีเนื้องอก หรือมีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะและไต หรือการติดเชื้อบางครั้งก็พบเม็ดเลือดแดงร่วมได้เช่นกัน
- ผลึกต่าง ๆ และแท่งโปรตีน สามารถบ่งชี้ถึงภาวะอุดตันจากนิ่วที่เกิดในไตหรือระบบทางเดินปัสสาวะ
อย่างไรก็ตามผลตรวจจะถูกต้องแม่นยำได้ก็ขึ้นอยู่ที่การเก็บสิ่งส่งตรวจเป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน โดยการเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทั่ว ๆ ไปที่ถูกวิธี จะต้องเก็บปัสสาวะช่วงกลางของการถ่าย โดยให้ถ่ายปัสสาวะช่วงแรกทิ้งไปก่อนเล็กน้อยก่อน เพื่อเป็นการทำความสะอาดท่อปัสสาวะแล้วจึงเก็บส่วนต่อมาให้ได้ประมาณ 10 – 15 มิลลิลิตรลงในภาชนะที่สะอาดแล้วถ่ายส่วนที่เหลือทิ้งไป ส่วนในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือนควรจะหลีกเลี่ยงการตรวจปัสสาวะ หรือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเพราะจะทำให้แปลผลผิดพลาดได้ เห็นไหมคะ แค่การเก็บตรวจปัสสาวะง่าย ๆ ไม่ต้องเจ็บตัวอะไรก็รู้ภาวะร่างกายได้ตั้งมากมาย แล้วคุณ ๆ ผู้อ่านล่ะคะ ได้ตรวจสุขภาพประจำปีกันแล้วหรือยัง
สนใจการตรวจสุขภาพสอบถามได้ที่ healthlabclinic หรือ มหาชัยทีแแอลซี