fbpx
Lipoprotein(a)

ทำความรู้จัก Lipoprotein (a)

Lipoprotein(a) ในเลือดสูง อาจหมายถึงการมีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

แม้ว่าเราจะมีสุขภาพดี ระดับไขมันปกติ กินอาหารที่มีประโยชน์  ออกกำลังกายเป็นประจำและไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ไลโปโปรตีน คือสารประกอบเชิงซ้อนที่มีส่วนประกอบของไขมัน (lipid) และโปรตีน (protein) ในโมเลกุล มีหน้าที่นำพาไขมันคลอเลสเตอรอลผ่านกระแสเลือดเข้าไปยังเซลล์  แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 

  1. HDL (High-density lipoprotein) หรือ ไขมันดี เป็นไลโปโปรตีนความหนาแน่นสูง
  2. LDL (Low-density lipoprotein) หรือ ไขมันไม่ดี เป็นไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ 

Lipoprotein(a) หรือ Lp(a) หรือ Cholesterol Lp(a) เป็น LDL ชนิดหนึ่งที่ได้รับการถ่ายทอดจากพันธุกรรม ประมาณ 30 – 50% ของผู้ป่วยโรคไขมันผิดปกติทางพันธุกรรม (Familial hypercholesterolemia : FH) จะพบระดับ Lp(a) สูงกว่าคนทั่วไปอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแข็งตัว เพราะเป็นตัวนำพาคลอเลสเตอรอลไปยังเซลล์ในหลอดเลือดแดงของเราจะสะสมอยู่ในหลอดเลือดแดงและเกิดการอุดตัน นำไปสู่ภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวและการอุดตันของหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ  หลอดเลือดแดงตีบหรือหลอดเลือดหัวใจอุดตัน  หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)  โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (Peripheral arterial disease) เช่น หลอดเลือดอุดตันที่แขน ขา และโรคหลอดเลือดอื่น ๆ ได้

Lp(a) มีแนวโน้มที่จะคงอยู่เหมือนเดิมไปตลอดชีวิต และด้วยเหตุผลนี้ ไม่ว่าเราจะรับประทานอาหารที่ดีและออกกำลังกายแค่ไหน อาจไม่สามารถเปลี่ยนระดับ Lp(a) ของเราได้มากนัก แต่ถ้าพบว่าเรามี Lp(a) สูง สิ่งที่ทำได้ในเบื้องต้นคือการดูแลสุขภาพหัวใจของเราให้แข็งแรง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงโดยรวมต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด  ซึ่งสามารถทำได้โดย

1. เมื่อตรวจพบว่ามีระดับ LDL ในเลือดสูง ควรทานยาลดไขมันตามแพทย์สั่ง

2. รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ

3. การลดน้ำหนัก

4. ออกกำลังกายเป็นประจำ

5. เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มแอลกอฮอล์

6. ลดความเครียด

7. ลดความดันโลหิตในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง

จากข้อมูลในปัจจุบันได้มีความคิดเห็นหรือบทสรุปจากสมาคมต่าง ๆ เช่น

สมาคมไขมันแห่งชาติ (The National Lipid Association) แนะนำให้มีการตรวจระดับ Lp(a) ในผู้ที่ครอบครัวมีภาวะไขมันในเลือดสูง ประวัติคนในครอบครัวที่มีคนเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดจากหลอดเลือดแข็งตัว (ASCVD)

ส่วนสมาคมโรคหลอดเลือดแข็งตัวแห่งยุโรป (The European Atherosclerosis Society) ได้กำหนดให้มีการแนะนำการตรวจคัดกรอง Lp(a) ในผู้ป่วยที่มีประวัติส่วนตัวที่เกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อนวัยอันควร โรคหัวใจและหลอดเลือดกำเริบขณะใช้ยา statin ผู้ที่ครอบครัวมีประวัติไขมันสูง

ในขณะที่สมาคมโรคหัวใจแห่งยุโรป (The European Society of Cardiology) แนะนำให้บุคคลทั่วไป เข้ารับการคัดกรองระดับ Lp(a) ในเลือดอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต เนื่องจากผลงานวิจัยที่มีอยู่ในตอนนี้ พบว่าระดับ Lp(a) ค่อนข้างคงที่ไปตลอดแม้เราจะมีอายุที่มากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศแคนาดาที่มีการแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองระดับ Lp(a) (Universal screening)

แต่อย่างไรก็ตามสำหรับในนักวิชาการบางกลุ่มอย่างเช่น American College of Cardiology and American Heart Association ยังไม่มีแนวทางการตรวจคัดกรองในบุคคลทั่วไปอย่างเป็นทางการ

ดังนั้นจากข้อมูลข้างต้นที่กล่าวมา การตรวจระดับ Lp(a) ในเลือด จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ในที่นี้หมายถึง

1. ผู้ที่มีประวัติสุขภาพครอบครัวเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อนอายุ 55 ปีในผู้ชาย และอายุ 65 ปีในผู้หญิง โดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น LDL สูง การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น

2. ผู้ที่ทานยาลดไขมัน แต่ระดับ LDL ยังคงสูง

3. ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด แม้มีไขมันคลอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ปกติ

4. ประวัติคนในครอบครัวมีไขมันในเลือดสูง (Familial hypercholesterolemia : FH)

5. ผู้ที่เคยมีภาวะหัวใจวายมากกว่าหนึ่งครั้งหรือเคยรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันด้วยการใช้สายบอลลูน (Angioplasty)

สำหรับการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ คืองดอาหารและเครื่องดื่ม 9-12 ชั่วโมง น้ำเปล่าดื่มได้ สารบางอย่างอาจส่งผลต่อการทดสอบ เช่น แอลกอฮอล์ ยาบางชนิด เช่น แอสไพรินหรือฮอร์โมนเอสโตรเจน (Oral estrogen hormone) อาหารเสริมไนอาซิน เป็นต้น เพราะฉะนั้น หากเป็นคนชอบดื่ม หรือเคยดื่มแอลกอฮอล์ หรือทานอาหารเสริม ยาต่าง ๆ ก่อนเข้ารับบริการควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบก่อนนะคะ

จากข้อมูลมีการกำหนด Lp(a) ที่มีระดับมากกว่าหรือเท่ากับ 125 mmol/L (หรือมากกว่าเท่ากับ 50 mg/dL) เท่ากับมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอาการหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมอง  และการรักษาเดียวที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) คือ การทำ Lipoprotein apheresis เป็นวิธีการกำจัด Lp(a) และ LDL-cholesterol ออกจากเลือดสำหรับผู้ที่ครอบครัวมีประวัติระดับ LDL มากกว่าเท่ากับ 100 mg/dL และ Lp(a) มากกว่าเท่ากับ 60 mg/dL และโรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดอื่น ๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอายุ เพศ เชื้อชาติของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ถึงจะมีการรักษาด้วยการลด Lp(a) ข้างต้น แต่จากข้อมูลงานวิจัยที่มีในปัจจุบันพบว่า ยังไม่มีการรักษาอย่างเป็นทางการว่าการลดระดับ Lp(a) ลงได้แล้วจะสามารถลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยหรือไม่ แต่ให้ใช้เป็นการตรวจคัดกรองสำหรับการประเมินความเสี่ยง เพื่อการปรับพฤติกรรมที่จะช่วยลดความเสี่ยงโดยรวมต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ค่ะ

แหล่งอ้างอิง :

ที่มา : Khashayar Farzam; S Senthilkumaran, September 2, 2022. : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK570621/  

ที่มา : June 27, 2022 : https://www.cdc.gov/genomics/disease/lipoprotein_a.htm

ที่มา : August 3, 2022 : https://medlineplus.gov/lab-tests/lipoprotein-a-blood-test/

ที่มา : https://www.heart.org/en/health-topics/cholesterol/genetic-conditions/lipoprotein-a

ที่มา : นพ. ชาคริต หลิมพานิช https://cimjournal.com/medical-news/elevated-lp-a-fh/

ติดต่อสอบถาม หรือ นัดหมายได้ที่

มหาชัย ทีแอลซี สาขา มหาชัย
เฮลท์แลป สาขา อ่อนนุช
เฮลท์แลป สาขา หัวหิน
นุชรัตน์เฮลท์แลป สาขา หัวนา

You cannot copy content of this page