fbpx
เฮลท์แลบ คลินิกเทคนิคการแพทย์ บริการตรวจสุขภาพ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ
Follow us :
อินซูลินกับโรคเบาหวาน

อินซูลิน กับ โรคเบาหวาน

สวัสดีค่ะ วันนี้แอดมินจะมาเขียนถึงเจ้าฮอร์โมนที่สำคัญที่ชื่อ “ อินซูลิน ” คิดว่าหลายคนคงพอจะรู้จักเจ้าอินซูลินกันมากขึ้น จากสื่อทางทีวี ออนไลน์ หนังสือสุขภาพ หรือแม้แต่คนแถวบ้านที่เป็นโรคเบาหวานพูดถึง เอ๊ะ !! แล้วจริง ๆ  อินซูลิน มันคืออะไรล่ะ ทำไมคนแถวบ้านที่เป็นเบาหวานอยู่พูดถึงบ่อย ๆ

อินซูลิน คือ ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ถูกผลิตมาจากเบตาเซลล์ ในตับอ่อน มีความเกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลในเลือด โดยอินซูลินจะทำหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์เพื่อการเผาผลาญพลังงาน ซึ่งอินซูลินจะถูกหลั่งออกมามากขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เช่น เวลาที่เรากินข้าว เพราะอาหารที่เรากินเข้าไปนั้นจะมีน้ำตาลหรือกลูโคสเพื่อให้พลังงานอยู่แล้ว ตับอ่อนก็จะหลั่งอินซูลินออกมามากขึ้น เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด ยิ่งเรากินน้ำตาลมากขึ้นเท่าใด ตับอ่อนก็จะหลั่งอินซูลินมากขึ้น ๆ ไปเรื่อย เมื่อน้ำตาลในเลือดลดลงแล้ว ตับอ่อนก็จะลดการหลั่งอินซูลิน เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม

พูดกันง่าย ๆ ว่าช่วงเวลาที่อินซูลินจะถูกหลั่งออกมามากที่สุดคือหลังจากที่เรากินอาหาร ขนม หรืออะไรก็ตามที่เพิ่มน้ำตาลในเลือด พอลดน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจของร่างกาย ก็จะลดการหลั่งอินซูลินลง นี่คือสภาวะปกติในร่างกายคนเรา

แต่สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องอินซูลิน มีปัญหาเรื่องตับอ่อน ทำให้การสร้างอินซูลินมาปัญหา จึงส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานได้ เพราะหลั่งอินซูลินได้ไม่เพียงพอสำหรับการลดน้ำตาลในเลือด หรือบางทีเบต้าเซลล์มีปัญหา ก็สร้างอินซูลินไม่ได้เลยก็มี

เพราะฉะนั้นคนที่เป็นเบาหวานจึงมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากอินซูลินนั่นเอง

โรคเบาหวาน ถูกจำแนกออกเป็น 2 ชนิด

เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus) หรือเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน มักพบในผู้ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี รูปร่างผอม คนไทยเป็นชนิดนี้น้อยกว่า 5%

เกิดจากมีปัญหาที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ หรือสร้างอินซูลินได้ ก็ไม่มีประสิทธิภาพเพราะเซลล์ต้นกำเนิดไม่ปกติ ทำให้ไม่สามารถนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์เพื่อลดน้ำตาลในเลือดได้ ทำให้มีน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น ร่างกายอ่อนเพลีย น้ำหนักลดรวดเร็ว ติดเชื้อง่าย กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย ส่งผลให้เกิดการคั่งของคีโตนในเลือด เลือดเป็นกรดได้ เบาหวานชนิดนี้จำเป็นต้องได้รับการักษาด้วยการฉีดอินซูลินเท่านั้น

สาเหตุของเบาหวานชนิดนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด อาจจะเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเองในโรคกลุ่ม Autoimmune ที่ทำลายเบต้าเซลล์ในตับอ่อน ทำให้สร้างอินซูลินไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุเกิดมาจากพันธุกรรมที่ส่งต่อกันมา

เบาหวานแบบที่ 2 (Type 2 Diabetes) หรือเบาหวานแบบไม่พึ่งอินซูลิน มักพบในผู้ใหญ่ อายุมากกว่า 40 ปี โดยเฉพาะคนอ้วน ทำให้พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ บางคนเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ในคนไทยพบเบาหวานชนิดนี้มากถึง 95%

สาเหตุเกิดจากภาวะที่ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินอย่างมีประสิทธิภาพ เรียกว่าภาวะดื้ออินซูลิน (ที่มาขอชื่อเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน) ทำให้ดึงน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ลดลง เซลล์ไม่ได้รับพลังงาน น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ร่างกายก็จะพยายามสร้างอินซูลินมากขึ้นเพื่อต้องการให้เซลล์ได้รับพลังงานเพียงพอ แต่สุดท้ายนานวันเข้าเซลล์ตับอ่อนก็จะผลิตอินซูลินไม่ได้อีกต่อไป ส่วนใหญ่มักจะพบในผู้ที่ชอบกินของหวาน หรือแป้งเป็นชีวิตจิตใจ ^^

อาการของโรคคล้าย ๆ กับชนิดที่ 1 แต่รุนแรงน้อยกว่า  เช่น กระหายน้ำ ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อยแต่น้ำหนักลด อ่อนเพลีย

แล้วถ้าสงสัยว่าจะเป็นเบาหวาน ที่บ้าน พ่อเป็นเบาหวาน หรือคนในครอบครัวมีคนเป็นเบาหวาน (อันนี้ไม่เกี่ยวกับคนข้างบ้านแล้ว) อยากตรวจเบาหวานมีการตรวจแบบไหนบ้าง

  1. ตรวจน้ำตาลสุ่ม Random Blood sugar ไม่ต้องอดอาหารเป็นการสุ่มตรวจ ถือว่ามีความแม่นยำน้อยที่สุด ไม่ต้องอดอาหารเจาะเลือดตรวจเลือด หากผลตรวจมากกว่า 200 mg/dL. อาจจะเป็นเบาหวานแล้วล่ะ จึงจำเป็นต้องทำการตรวจน้ำตาลแบบอื่นเพิ่มเติมที่เรียกว่า FBS
  2. ตรวจน้ำตาลในเลือด Fasting Blood Sugar (FBS) เป็นการตรวจน้ำตาลโดยอดอาหารก่อนตรวจ 6-8 ชม. จะทราบค่าน้ำตาลในเลือดในขณะนั้น หากมีการกินแป้ง น้ำตาลมากเกินไป ระดับน้ำตาลจะโดดสูงขึ้นได้ หากน้ำตาลที่ตรวจมากกว่าหรือเท่ากับ 126 mg/dL. แสดงว่ามีความเป็นไปได้ว่าเป็นเบาหวานแล้วล่ะ (แบบนี้คนนิยมตรวจ เพราะราคาถูก แม่นยำกว่าแบบแรก)
  3. ตรวจน้ำตาลสะสม HbA1c หรือที่เรียกว่าน้ำตาลสะสม เป็นค่าน้ำตาลจริงเฉลี่ย 3 เดือนที่ผ่านมา ไม่จำเป็นต้องอดอาหารก่อนตรวจ เพราะเป็นการตรวจวัดน้ำตาลที่เกาะอยู่บนผิวของเม็ดเลือดแดง และเนื่องจากเม็ดเลือดแดงมีอายุเฉลี่ย 120 วันหรือ 3 เดือน ทำให้บางคนเรียกว่าน้ำตาล 3 เดือน ผลตรวจเกิน 6.5% ก็เบาหวานเข้าแล้วล่ะ
  4. การตรวจความทนต่อกลูโคส (Glucose tolerance test) โดยจะต้องกินน้ำตาลในปริมาณที่กำหนด (ส่วนใหญ่จะกินน้ำตาล 75 g) ไม่ต้องอดอาหารมา หลังกินน้ำตาลเสร็จ นั่งรอ 2 ชม.เจาะเลือดตรวจน้ำตาล หากน้ำตาลสูงกว่า 200 mg/dL. ถือว่าเป็นเบาหวานแล้วล่ะ

Q : ระหว่างแบบเจาะปลายนิ้ว เสียบเข้าเครื่องเล็ก ๆ อ่านผลได้เลย กับการเจาะเลือดที่แขนไปตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือตัวใหญ่ แบบไหนแม่นยำกว่า

A : แบบเจาะที่แขนแม่นยำกว่าค่ะ แต่เนื่องจากข้อจำกัดที่จะต้องมีผู้ชำนาญในการเจาะเลือด ต้องตรวจด้วยเครื่องมือตัวใหญ่ อาจจะไม่สามารถทำได้บ่อย ๆ ในผู้ป่วยบางท่าน เช่น ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 จำเป็นต้องคอยตรวจเช็กสม่ำเสมอ หลายครั้งต่อวัน เพราะต้องวัดระดับน้ำตาลต่อเนื่อง ไม่สะดวกเดินทางไปตรวจที่คลินิกหรือโรงพยาบาล (เดี๋ยวช็อก) ก็จำเป็นต้องทำการตรวจแบบปลายนิ้วด้วยค่ะ และไปตรวจแบบเจาะที่แขนเป็นระยะด้วยเช่นกัน

หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกาย สงสัยว่าจะเป็นเบาหวานควรตรวจเช็กก่อนที่จะสายเกินไป เพราะถ้าน้ำตาลเริ่มสูง เราคุมได้ด้วยตัวเอง อาจจะดีกว่า แต่ถ้าไม่ตรวจเลย ปล่อยให้น้ำตาลสูงเลยไปไกลจนช็อกไปแล้ว คือ ต้องเข้าสู่การรักษาเพียงอย่างเดียวนะคะ

มาถึงตรงนี้คิดว่าหลายคนคงเข้าใจแล้วว่าอินซูลินมีความเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานอย่างไร (อันนี้ไม่ต้องถามคนแถวบ้าน มาถามแอดมินดีกว่าค่ะ) การกินของตามใจปาก ตามใจตัวเองมากเกินไปก็อาจจะทำให้ได้เบาหวานชนิดที่ 2 แถมมาด้วยนะคะ เพราะฉะนั้นต้องกินให้เป็น กินได้ก็ต้องเอาออกให้ถูกวิธีได้ด้วยนะคะ … วันนี้สวัสดีค่ะ

ติดต่อสอบถาม หรือ นัดหมายได้ที่

มหาชัย ทีแอลซี สาขา มหาชัย
เฮลท์แลป สาขา อ่อนนุช
เฮลท์แลป สาขา หัวหิน
นุชรัตน์เฮลท์แลป สาขา หัวนา

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความยอดนิยม

มหาชัย ทีแอลซี สาขา มหาชัย
เฮลท์แลป สาขา อ่อนนุช
เฮลท์แลป สาขา หัวหิน
นุชรัตน์เฮลท์แลป สาขา หัวนา
เลือกช่องทางนัดหมาย
MAHACHAI TLC MAHACHAI BRANCH
HEALTH LAB HUA HIN BRANCH
NUTRAT HEALTH LAB (HUA NA – SOI 112)
Appointment
HEALTH LAB ON NUT BRANCH

You cannot copy content of this page