ภาวะ ไขมันพอกตับ
ภาวะที่มีการสะสมของไขมันมากกว่า 5-10% ของน้ำหนักตับ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ ทำให้เกิดตับอักเสบ เกิดพังผืดภายในตับ จนกลายเป็นตับแข็งในที่สุด ซึ่งหากอาการของโรคดำเนินไปจนถึงภาวะตับแข็ง จะไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาหรือวิธีการทางแพทย์ใดๆ
ทำได้เพียงควบคุมอาการและลดปริมาณไขมันในตับโดยการดูแลสุขภาพของตนเองตามคำแนะนำเท่านั้น
ภาวะ ไขมันพอกตับ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ภาวะไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกิน จนทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ จนมีการสะสมไขมันที่ตับเกิดขึ้น
- ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบเผาพลาญ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
ในคนที่มีภาวะไขมันพอกตับจะไม่แสดงอาการให้เห็นในช่วงแรก แต่จะเริ่มแสดงอาการก็ต่อเมื่อมีไขมันสะสมอยู่ที่ตับเป็นจำนวนมากแล้ว โดยอาการที่พบได้บ่อยคือ เหนื่อย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดร้าวใต้ชายโครงขวาและปัสสาวะสีเข้ม
แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าเรากำลังมีภาวะไขมันพอกตับ…??
- การเจาะเลือดดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) การตรวจการทำงานของตับ (LFT) การตรวจค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1C) และการตรวจวัดไขมันในเลือด (Lipid Profile) เนื่องจากว่าในคนที่มีภาวะไขมันพอกตับบางรายอาจพบระดับน้ำตาลและไขมันที่สูง ร่วมกับการอักเสบของตับด้วย
- การอัลตราซาวน์ช่องท้องร่วมกับการคลำที่ท้อง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของตับและอาการตับโตผิดปกติ
- การทำไฟโบรแสกน (Fibroscan) เป็นการตรวจวัดความยืดหยุ่นและความเสียหายของเนื้อเยื่อจากการที่มีไขมันไปพอก พร้อมกับประเมินไขมันที่สะสมอยู่ภายในตับ
การป้องกันภาวะไขมันพอกตับ
ไขมันพอกตับเป็นปัญหาสุขภาพที่สามารถหลีกเลี่ยงได้หากมีการดูแลสุขภาพที่ดีพอ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมันสูง หากเป็นผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำควรลดปริมาณการดื่มลง ควบคู่กับการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักและกระตุ้นระบบเผาพลาญ เพียงเท่านี้เราก็จะห่างไกลจากการเกิดภาวะไขมันพอกตับได้
#คลินิก#แลบ#ตรวจ#เลือด#ปัสสาวะ#ร่างกาย#สุขภาพ#ประจำปี#ใบสั่ง#แพทย์#ก่อนเข้างาน#สมุทรสาคร#มหาชัย#ทีแอลซี#เฮลท์แลบ#ประจวบคีรีขันธ์#หัวหิน#หัวนา