จาก เบาหวาน อย่าเบาใจ ตอนที่ 1 ได้พูดถึงชนิดของโรค เบาหวาน ไปแล้ว ตอนที่ 2 มาดูผลกระทบจากโรคนี้กันนะคะ
ผลกระทบจากโรค เบาหวาน นำไปสู่โรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย จึงมีเป้าหมายหลักในการลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นในผู้ป่วยเบาหวาน โดยการควบคุมระดับน้ำตาลสะสมในเลือด ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ตามอายุ และระยะเวลาที่เป็นโรค หรือให้ใกล้เคียงกับค่าปกติ คือ ระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) น้อยกว่า 6.5 % หรือ ไม่เกิน 7 % และสำหรับในผู้ป่วยที่มีอายุมากและเป็นเบาหวานมานาน ควรมีระดับน้ำตาลสะสม อยู่ที่ 8- 8.5%
โรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นมีทั้งแบบค่อยเป็นค่อยไปและแบบเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะ ผู้ป่วยที่ไม่ดูแลตัวเองหรือผู้ป่วยที่มีอายุมาก
สำหรับโรคแทรกซ้อนที่ค่อยเป็นค่อยไป มักเกิดที่อวัยวะต่างๆ ที่มีเส้นเลือดเล็กๆ เช่น หัวใจ ตา ไต เส้นประสาท และ เท้า เป็นต้น เช่น
โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง พบว่าร้อยละ 68 ของผู้ป่วยเบาหวาน ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจ และ ร้อยละ 16 เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง และผู้ใหญ่ที่เป็นเบาหวาน เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจมากกว่า ผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน 2-4 เท่า!!
ทำไมผู้ป่วยเบาหวาน บางส่วนถึงถูกตัด ขา เท้า หรือนิ้วเท้า!!! ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง มักมีโอกาสเกิดแผลเรื้อรังสูง นำไปสู่การถูกตัดนิ้วเท้า เท้า หรือขา เนื่องจากเกิดแผลง่ายและถ้าไม่ตัดอาจเกิดแผลติดเชื้อและลุกลามไปอวัยวะอื่นๆได้ ซึ่งสาเหตุเกิดจาก
ระบบปลายประสาทส่วนปลายเสื่อม หรือเรียกว่า “เบาหวานลงเท้า” ระยะแรก มักมีอาการปวดแสบปวดร้อน โดยเฉพาะในตอนกลางคืน และมีอาการชาร่วมด้วย โดยเริ่มชาจากปลายนิ้วเท้าก่อน แล้วเริ่มชาไล่ขึ้นไปที่หลังเท้าและขาทั้งสองข้าง เมื่อมีอาการชาอาจเหยียบของมีคมโดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดแผลและอาการชานี้ อาจทำให้ผู้ป่วยเดินลงน้ำหนักที่บริเวณแผล ทำให้แผลถูกกดทับตลอดเวลาและไม่สามารถหายได้ เมื่อระบบประสามเสื่อมไปนานๆ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อเล็กๆ บางมัดเกิดฝ่อลง อาจทำให้เกิดเท้าผิดรูปได้เช่นกัน
ระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม ส่งผลทำให้ผิวหนังบริเวณเท้าแห้ง คัน ทำให้เกิดแผลง่าย และ หลอดเลือดส่วนปลายที่ขาตีบ ทำให้แผลหายยาก นำไปสู่การถูกตัดขาหรือเท้าได้
“เบาหวานขึ้นตา” มักพบในผู้ป่วยเบาหวานเป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปี เช่น ต้อกระจก ซึ่งพบบ่อยที่สุด เป็นสาเหตุ ทำให้ตาบอดได้ เกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง ไปจับกับโปรตีนที่อยู่บนเลนส์ตา ทำให้เกิดการสะสมเป็นเวลานาน ส่งผลให้ตาขุ่นมัว หรือจอประสาทตาเสื่อม สาเหตุจากเส้นเลือดในตาโป่งพอง และเลือดออก จอตาเสื่อม และ ต้อหิน และเบาหวานลงตาก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วย มองเห็นไม่ชัด อาจจะไปเหยียบของมีคมหรือสะดุดล้มได้ ทำให้เกิดแผลขึ้นที่เท้าหรือขา และนำไปสู่การสูญเสียขาและเท้าได้เช่นกัน
“ภาวะเบาหวานลงไต” มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน นานมากกว่า 10 ปี ไตมีการทำงานที่หนักขึ้น เนื่องจากน้ำตาลในเลือดที่สูง ส่งผลให้มีแรงดันเลือดไปที่ไตสูงตามไปด้วย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี การทำงานของไตจะลดลงเรื่อย ๆ จนมีภาวะไตรั่ว พบโปรตีนรั่วออกทางปัสสาวะและอาจดำเนินไปถึงภาวะไตวายเรื้อรังจนต้องทำการล้างไตในที่สุด
สำหรับโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ส่วนใหญ่มักจะมีอาการที่รุนแรงกว่าด้วยนะ เช่น
เลือดเป็นกรด พบในภาวะที่ร่างกายสลายไขมัน เพื่อสร้างคีโตน มาใช้เป็นพลังงานแทนการใช้น้ำตาล เกิดเป็นคีโตนบอดี้ (Ketone body) ทำให้เลือดเป็นกรด มักพบในผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 1
โรคเบาหวานไม่ได้มีแค่อาการที่เกิดจากน้ำตาลในเลือดสูงเท่านั้น ถ้าเมื่อไหร่ที่ร่างกายอยู่ในภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดต่ำมาก ๆ ก็จะโคม่าและหมดสติได้เช่นกัน สาเหตุ มักเกิดมาจากผู้ป่วยเบาหวาน ที่ใช้ยาหรืออินซูลินไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือที่เรียกกันว่า น้ำตาลตก ก็สามารถพบได้ในคนปกติที่มีภาวะอดอาหาร/น้ำตาลมากเกินไปได้ ถ้ามีภาวะแบบนี้บ่อยๆ หรือมีอาการเรื้อรัง อาจส่งผลต่อการอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และสามารถเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เสียชีวิตได้ทันที
มากกว่าการเป็นโรคเบาหวาน คือการมีโรคแทรกซ้อนตามมานี่แหละ เป็นแล้วก็ลำบากเลย ดังนั้น “เบาหวาน อย่าเบาใจ” กลับมาดูแลสุขภาพ หมั่นตรวจเช็คอาการและตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อป้องกันและรู้เท่าทันโรคกันนะคะ อย่าลืมติดตามตอนจบ ของเบาหวาน อย่าเบาใจ ตอนที่ 3 กันด้วยนะคะ