จากสถิติในอดีต จะพบคนเป็นโรค เบาหวาน เมื่อมีอายุมากขึ้น
แต่ในปัจจุบัน พบอุบัติการณ์โรค เบาหวาน ในคนที่อายุน้อยลงเรื่อย ๆ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อาหารการกินในตอนนี้ สร้างสรรค์มาอย่างหลากหลายและน่ากินสะเหลือเกิน โดยเฉพาะสายเย็นชา ชาเขียว ชาไทย ชาไข่มุก หรือแม้แต่อาหารต่าง ๆ ที่ช่วยร่างกายจากความเหนื่อยล้าให้ได้รับพลังงาน ความสุขจากการกินมันดีมาก ๆ เลยนะ แต่อย่าลืมใส่ใจสุขภาพ ออกกำลังกายและควบคุมอาหารกันด้วย ก่อนจะสายเกินไปนะคะ
โรค เบาหวาน คืออะไร..?
โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูง และมีน้ำตาลในปัสสาวะ สาเหตุมาจากตับอ่อนสร้างอินซูลินได้ไม่เพียงพอ หรือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โดยปกติแล้วไตจะสามารถดูดกลับน้ำตาลได้หมด แต่สำหรับคนที่เป็นเบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าปกติ เพราะไม่สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ ทำให้ไตไม่สามารถดูดกลับได้หมด จึงทำให้น้ำตาลผ่านหน่วยกรองของไตไปกับปัสสาวะได้ ทำให้มีโอกาสพบน้ำตาลในปัสสาวะได้นั่นเอง
ตับก็มีส่วนเกี่ยวข้องนะคะ เพราะทำหน้าที่เก็บสะสมไขมัน และน้ำตาลอยู่ในรูปของไกลโคเจน ระหว่างมื้อหรือตอนกลางคืน ตับจะสลายไกลโคเจนไปเป็นกลูโคสเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงาน และตับสามารถผลิตน้ำตาลกลูโคสได้จาก กรดอะมิโนและไขมัน เพื่อให้ได้พลังงานที่เพียงพอ
ถ้าอย่างนั้น… เราไม่กินอาหารเลยได้ไหม จะได้ไม่อ้วน แถมไม่เสี่ยงเป็นเบาหวานด้วย….ถ้าไม่มีการกินอาหาร หรือมีการอดอาหาร ตับจะสร้างคีโตนที่ได้จากไขมันมาใช้เป็นพลังงานแทน ซึ่งถ้าคีโตนมากเกินไปก็จะทำให้เลือดมีสภาวะเป็นกรดได้ ซึ่งอาจจะมีผลเสียกับร่างกายสำหรับคนที่มีโรคประจำตัวบางชนิดได้
สรุปแล้วโรค เบาหวาน มีกี่ชนิดกันแน่?
เราเคยเรียนรู้กันว่าโรคเบาหวานจำแนกออกมาเป็น 2 ชนิด แต่ในปัจจุบัน สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยได้จำแนกโรคเบาหวานออกมาเป็น 4 ชนิด ซึ่งสามารถพบได้กับทุกช่วงทุกวัย
ชนิดที่ 1 : โรคเบาหวานจากภาวะขาดอินซูลิน สาเหตุมากจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไปทำลายเบต้าเซลล์ที่ตับอ่อน จึงไม่มีเบต้าเซลล์ไว้ผลิตอินซูลินหรือผลิตได้ไม่เพียงพอ มักพบในเด็ก
ชนิดที่ 2 : โรคเบาหวานจากภาวะดื้ออินซูลิน พบมากถึงร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เป็นภาวะที่ร่างกายมีการดื้อต่ออินซูลิน ร่วมกับเบต้าเซลล์ที่ตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูง มักพบในคนที่อายุ 30 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่าเกิดในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เช่น อายุ 20 – 30 ปี ซึ่งสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารที่เป็นแป้ง น้ำหวาน หรือการออกกำลังกายที่ลดลง
ชนิดที่ 3 : เบาหวานในผู้หญิงตั้งครรภ์ เบาหวานชนิดนี้เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ มักเกิดในไตรมาสที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์ และหายไปได้หลังคลอด แต่ในบางรายก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ต่อ ถึงแม้จะคลอดแล้ว
ชนิดที่ 4 : โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ มีได้หลายสาเหตุ เช่น
– ตับอ่อนอักเสบ มะเร็งตับอ่อน เพราะตับอ่อนเป็นตัวสร้างเบต้าเซลล์ที่ใช้ผลิตอินซูลิน
– ปัญหาที่ต่อมไร้ท่อ เพราะเป็นอวัยวะที่ผลิตฮอร์โมน ที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญพลังงาน การควบคุมความดัน โลหิตและการเต้นของหัวใจ เช่น Growth Hormone ผิดปกติ หรือ Cortisol ผิดปกติ
– การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อหัดเยอรมัน เพราะตัวเชื้อไปปลอมตัวเป็นตัวรับอินซูลินแทนที่เซลล์ต่าง ๆ ได้ หรือไปขัดขวางการส่งสัญญาณของเซลล์ในร่างกายได้ด้วย
การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญและเราไม่ควรมองข้าม “เบาหวาน อย่าเบาใจ”กันเลยนะคะ เรามาเริ่มควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ใส่ใจสุขภาพ เพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและโรคอื่น ๆ ที่จะตามมาด้วย เพราะเมื่อเป็นโรคนี้แล้ว ยังสามารถส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะที่มีเส้นเลือดเล็ก ๆ ไปหล่อเลี้ยง เช่น ตา หัวใจ ระบบประสาท และอื่น ๆ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคแทรกซ้อนตามมาได้ค่ะ
ครั้งหน้าเราพูดถึงเบาหวาน อย่าเบาใจ ตอนที่ 2 กันนะคะ