ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่า การตรวจ เบาหวาน หรือ น้ำตาลในเลือด มีหลายวิธี ซึ่งวิธีที่ส่วนใหญ่มักจะตรวจกันคือวิธีที่ต้องอดอาหาร ที่เรียกว่า Fasting Blood Sugar(FBS) ซึ่งเราต้อง งดอาหาร อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง โดยจะต้องงดอาหารทุกชนิด และเครื่องดื่มต่าง ๆ น้ำอัดลม น้ำหวานต่าง ๆ นี่ ห้ามเด็ดขาดเลยนะคะ เพราะจะไปเพิ่มระดับน้ำตาลในกระแสเลือดให้มากกว่าความเป็นจริง แต่สามารถดื่มน้ำเปล่าได้นะคะ
เหตุผลที่เราต้องงดอาหาร และเครื่องดื่มต่าง ๆ ก็เพราะร่างกายของเราโดยปกติเมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป ในเวลา 6-8 ชม. อาหารก็จะถูกย่อยเป็นโมเลกุลเล็ก ๆ จนหมด ย่อยจนเหลือเป็นกลูโคส(Glucose) และจะถูกดูดซึมไปใช้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่วนที่เหลือก็จะถูกนำไปเก็บสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่ถ้ามีมากเกินก็จะคงค้างอยู่ในกระแสเลือด การตรวจน้ำตาลนี้ก็คือตรวจเพื่อดูว่าร่างกายเราสามารถดึงน้ำตาลไปใช้หรือไปเก็บเข้าในเซลล์ได้ดีเพียงใด เมื่อน้ำตาลอยู่ในกระแสเลือดมากแปลว่าระบบการทำงานของร่างกายเรากำลังแย่แล้วล่ะค่ะ ปล่อยให้น้ำตาลออกมาเกะกะระรานเป็นปัญหากับอวัยวะอื่น ๆ แบบนี้ไม่ดีแน่
แต่รู้หรือไม่คะ ว่านอกจากการอดอาหารมาตรวจแล้วก็ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่าการตรวจหาน้ำตาลเฉลี่ยสะสม หรือที่มักถูกเรียกว่า HbA1C และมีชื่อเต็มๆว่า Glycated Hemoglobin ซึ่งเป็นการตรวจน้ำตาลที่เกาะอยู่กับส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดงที่เรียกว่าฮีโมโกลบิน ซึ่งน้ำตาลจะเกาะอยู่ได้นานตามอายุขัยเม็ดเลือดแดง ซึ่งได้นานถึง 3 เดือน นั่นก็หมายความว่า การตรวจน้ำตาลเฉลี่ยสะสมนี้จะสามารถประเมินค่าน้ำตาลที่ผ่านมาในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาได้ โดยจะดูว่าคุณสามารถควบคุมอาหารได้ดีหรือไม่ ซึ่งส่วนมากแพทย์จะแนะนำให้ตรวจติดตามในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะการตรวจแบบนี้ว่ากันง่ายๆ จะหลอกคุณหมอไม่ได้นั่นเอง เพราะการตรวจน้ำตาลแบบ FBS ซึ่งเพียงแค่คุณงดอาหารที่คุณโปรดปรานทั้งขนมหวานเอย แป้งเอย ขนมปังเอย เพียงไม่กี่วันแล้วมาตรวจค่าก็เปลี่ยนไปแล้ว บางทีทำให้เกิดการจ่ายยาที่ผิดพลาด
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปี ขึ้นไป
- ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัว (พ่อ, แม่, พี่, น้อง) เป็นโรคเบาหวาน
- ผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย และมีพฤติกรรมชอบรับประทานอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาลมาก
- ผู้ที่น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรืออ้วน
- ผู้ที่เคยเป็นภาวะ Pre-Diabetes
- ผู้ที่มีความดันโลหิตมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มม. ปรอท
- ผู้ที่มีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือมีลูกที่น้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 kg
- ผู้ที่มีโรคทางระบบหลอดเลือด และหัวใจ
- ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ
- ผู้ที่มีภาวะดื้อ Insulin เช่น ภาวะ Metabolic Syndrome (ภาวะ อ้วน, ความดันเลือดสูง, ไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง, HDL ต่ำ, ระดับน้ำตาลอยู่ในช่วง Pre-Diabetes)
การตรวจคัดกรองเบาหวานตั้งแต่เนิ่น ๆ เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะไม่เช่นนั้นหากปล่อยไว้ก็อาจจะสายเกินแก้ และยังทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาอีกมากมายนับไม่ถ้วน ถึงกระนั้นคงได้แต่รักษาไปตามอาการ