วันนี้เรามาพูดถึงโรคไต โรคที่มีสถิติการเกิดมากขึ้นคู่ขนานกับจำนวนผู้ป่วยโรคกลุ่ม NCDs ที่มีมากขึ้น เช่นกัน แล้วโรคนี้มันสัมพันธ์กับ Cystatin C อย่างไร วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันค่ะ
โรคไต
เป็นโรคที่พบได้บ่อยอีกโรคหนึ่งนะคะ พบมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือโรคไตเฉียบพลัน และโรคไตเรื้อรัง โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่มาจากโรคกลุ่ม NCDs โดยเฉพาะ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง และพบได้มากขึ้นกับผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 60 ปี
Cystatin C
คือโปรตีนที่มีขนาดเล็กมากที่อยู่ในเลือด จึงถูกกรองโดยไต จึงถูกใช้เป็นตัวชี้วัดการทำงานของไตได้ พบได้ทั้งในเนื้อเยื่อและของเหลวต่างๆ ในร่างกาย มีหน้าที่ป้องกันเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue) จากการทำลายโดยเอนไซม์ที่ทำงานภายในเซลล์ต่างๆ และมีบทบาทในการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสค่ะ ในคนปกติ Cystatin C จะถูกปล่อยสู่กระแสเลือดในปริมาณคงที่และถูกกรองผ่าน glomerulus ที่ไตโดยจะไม่กลับเข้าไปในกระแสเลือดอีก เพราะฉะนั้นหากความสามารถในการทำงานของไตและการกรองของ glomerulus ลดลง จึงพบระดับ Cystatin C ในเลือดจะสูงขึ้น หรือบอกได้ว่าการทำงานของไตแย่ลงนั่นเอง
เปรียบเทียบการใช้ Cystatin C และ Creatinine สำหรับประเมินโรคไตในระยะเริ่มต้น
ในการประเมินความเสื่อมของไตในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ได้มีการนำค่า eGFR (estimated Glomerular Filtration Rate ) มาใช้ ซึ่งค่า eGFR ได้มาจากการคำนวณค่า Creatinine จากการตรวจวิเคราะห์ แต่เนื่องจากค่า Creatinine มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อค่า Creatinine ที่อาจจะไม่ใช่แค่เพียงการกรองของไตที่มีประสิทธิภาพลดลงเท่านั้น แต่อาจจะเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น มวลกล้ามเนื้อที่มาก หรือน้อยเกินไป อาหารบางชนิดที่มีโปรตีนสูง รวมไปถึงยาที่ใช้ในการรักษา และสภาพร่างกายในขณะที่ตรวจเลือด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่อง อายุ เชื้อชาติ เพศ ก็ส่งผลต่อค่า Creatinine ได้ และทำให้ค่า eGFR ที่คำนวณออกมาความถูกต้องลดลงจากปัจจัยเหล่านี้
ในขณะที่ค่า Cystatin C ที่ได้จากการตรวจวิเคราะห์ เป็นค่าที่มีการถูกรบกวนน้อยกว่า แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีนะคะ แล้วอะไรบ้างที่รบกวนค่า Cystatin C นั่นก็คือ คนอ้วน มี BMI สูง คนที่มีการอักเสบภายในร่างกาย ติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัส ผู้ที่มีปัญหาเรื่องไทรอยด์ ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือผู้ที่กินยากลุ่มสเตียรอยด์อยู่ จึงทำให้ Cystatin C นั้นดูเหมือนจะเป็น marker สำหรับโรคไตเรื้อรังได้ดีกว่า Creatinine ในการบ่งชี้โรคไตในระยะเริ่มต้น โดยมีความแม่นยำและมีความไว ในทางคลินิกต่อการตรวจการทำงานของไต และมีความสัมพันธ์ กับ eGFR มากกว่า Creatinine จากปัจจัยที่รบกวนน้อยกว่านั่นเอง ในผู้ป่วยไตระยะเริ่มต้นบางราย กว่าจะพบค่า Creatinine จะผิดปกติ พบว่าไตเสียหายไปแล้วกว่า 50% เพราะฉะนั้นในผู้ที่พบ Cystatin C สูงในเลือดจึงแสดงถึงการทำงานของไตเสื่อม ไปพร้อมกับค่า eGFR จะลดลง
อย่างไรก็ตาม การใช้ค่า Cystatin C เพียงอย่างเดียวอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้ในผู้ป่วยบางกลุ่ม จากปัจจัยที่ระบุข้างต้นว่าสามารถรบกวนค่า Cystatin C ได้ เช่น ผู้ป่วยกลุ่มที่มีภาวะอ้วน มีการอักเสบ มีการใช้สเตียรอยด์ หรือผู้ที่มีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำนายระดับการทำงานของไตได้สูง หรือต่ำเกินจริง นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการตรวจ Cystatin C ยังสูงกว่า Creatinine มาก จึงอาจจะทำให้ไม่ได้ง่ายนักในการที่จะใช้ Cystatin C ประเมินทดแทน Creatinine
ดังนั้นจึงควรพิจารณาใช้ค่า Cystatin C ร่วมกับ Creatinine ในสูตรสมการที่มีข้อมูลการศึกษา CKD-EPI eGFRcr-cys เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้นในการตรวจติดตามการรักษาโรคไตเสื่อมเรื้อรังค่ะ ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและดุลยพินิจของแพทย์ร่วมด้วย
สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากถึงหลาย ๆ ท่านที่มีความต้องการตรวจและทราบค่า eGFR นะคะ เนื่องจากค่า eGFR นั้นได้ถูกนำมาเพื่อประเมินการทำงานของไต ความเสื่อมของไตในผู้ป่วยโรคไต หรือมีพยาธิสภาพที่ไตเป็นหลัก ไม่ได้แนะนำให้นำมาใช้ในผู้ที่ไม่ได้มีปัญหา หรือพยาธิสภาพที่ไตนะคะ ทำให้เรามักจะเจอปัญหาในผู้ที่มาเช็กสุขภาพแล้วมีความต้องการทราบค่า eGFR นี้ ในบางคนที่ค่า eGFR ต่ำ แต่ยังไม่ได้มีปัญหาโรคไต เกิดความวิตกกังวลหลังทราบผล ต้องทำการอธิบายและทำความเข้าใจในส่วนนี้กันเยอะมาก ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้เป็นโรคไตใด ๆ
เพราะฉะนั้นหากคุณยังไม่ได้มีพยาธิสภาพที่ไต ไม่มีความจำเป็นที่จะตรวจ eGFR นะคะ ให้ผู้ที่เค้ามีพยาธิสภาพ หรือป่วยเป็นโรคไตตรวจเพื่อติดตามผลการรักษา ประเมินโรคกันเถอะนะคะ