วิตามินดี เป็นวิตามินที่มีความสำคัญมากตัวหนึ่ง เพราะช่วยดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโต และเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน
เมื่อเราขาด วิตามินดี หรือวิตามินดีต่ำกว่าปกติเป็นระยะเวลานาน ๆ จะส่งผลให้เกิดปัญหาในส่วนของการสร้างและสะลายกระดูกที่ผิดปกติไป คือ มีการสร้างกระดูกลดลง – สลายกระดูกมากขึ้น เกิดภาวะกระดูกพรุน (Osteomalacia) ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุ ส่วนที่พบในเด็กจะเรียกว่า โรคกระดูกอ่อน (Rickets)
แต่ในปัจจุบันกลับตรวจพบการขาด วิตามินดี มากขึ้นในกลุ่มคนวัยทำงานเกือบร้อยละ 36.51% เนื่องจากเลี่ยงการออกแดด ทำงานในห้องแอร์ ทำงานในตึกกันมากขึ้น ออกกำลังกายในร่มแทนกลางแจ้งเพราะกลัวผิวคล้ำเสีย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการใช้ครีมกันแดด ก็ทำให้การได้รับวิตามินดีลดลง
แล้วเราได้รับวิตามินดีจากไหนบ้าง
1. อาหาร เช่นกลุ่มปลาแซลมอน แมคเคอแรลสุก ทูน่ากระป๋อง ธัญพืช นม ไข่แดง
2. แสงแดด ซึ่งการจะได้รับวิตามินดีจากแสงแดดนั้นต้องให้ผิวหนังสัมผัสกับแสงอาทิตย์โดยตรง ไม่มีกระจกหรือเสื้อผ้า หรืออะไรก็แล้วแต่คั่น อย่างน้อย 15 นาทีทุกวัน
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีวิตามินดีลดลง
– อยู่ในที่ร่ม ไม่โดนแสงแดดโดยตรงที่ผิวหนัง คนผิวคล้ำจะมีการดูดซึมวิตามินดีได้น้อยกว่าคนผิวขาว
– คนที่มีโรคระบบลำไส้ ที่มีการดูดซึมไขมันได้น้อย และวิตามินดีได้น้อยลง
– โภชนาการไม่ดี กินอาหารไม่ครบไม่ถูกต้อง
– เป็นโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น ภูมิแพ้ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูก โรคไต โรคตับ
– เป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน เพราะจะมี Vitamin D เก็บไว้ที่ชั้นใต้ผิวหนัง ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
– ได้รับยากันชัก หรือยากลุ่มสเตียรอยด์ต่อเนื่อง
– ผู้สูงอายุ
ประโยชน์ของวิตามินดีมีอะไรบ้าง
– กล้ามเนื้อ กระดูกและฟันแข็งแรง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตที่ดี
– ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ป้องกันมะเร็งชนิดต่าง ๆ
– ป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ภาวะดื้ออินซูลิน
– ป้องกันโรคกลุ่มการอักเสบทางเดินอาหาร IBD โรค MS
วิตามินดี (Vitamin D total) แบ่งเป็น 2 แบบคือ
1. Vitamin D2 ร่างกายสร้างเองไม่ได้ จะได้รับมาจากการกินอาหาร หรืออาหารเสริม
2. Vitamin D3 ร่างกายได้รับจากแสงแดด นำมาสังเคราะห์เป็นวิตามินดีที่ผิวหนังกำพร้า (ชั้นนอกสุด)
เกณฑ์ระดับวิตามินดี Vitamin D total หรือ Vitamin 25(OH)D ในร่างกาย
25 (OH)D น้อยกว่า 20 ng/mL. ———— สภาวะขาดวิตามินดี
25 (OH)D 20-30 ng/mL. ——————- วิตามินดีในเลือดไม่เพียงพอ หรือน้อยเกินไป
25(OH)D มากกว่า 30 ng/mL. ————– วิตามินดีในเลือดเพียงพอ
อายุที่มากขึ้น ฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อการดูดซึมแคลเซียมได้ลดลง ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกก็ลดลงเช่นกัน ประจวบกับหากการได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ ส่งผลการเจริญเติบโตของกระดูกและฟันไม่ดี ไม่แข็งแรง เกิดภาวะกระดูกพรุน กระดูกหัก แตกง่าย และเกิดปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ด้วย
เพราะฉะนั้นการตรวจวัดวิตามินดี จึงเป็นเรื่องสำคัญในทุกช่วงอายุ ทั้งเด็กที่ไม่ค่อยรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ผู้สูงอายุที่เข้าสู่โหมดวัยทอง และวัยทำงานที่ไม่ค่อยจะยอมให้แดดได้สัมผัสผิวของคุณโดยตรง
และอีกอย่างที่ต้องเตือนกันเอาไว้ก่อน สำหรับผู้ที่นิยมชมชอบในการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บางคนซื้อวิตามินมากินโดยที่ไม่ตรวจเช็กก่อนว่าร่างกายขาดอยู่หรือเปล่า อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีได้นะคะ
วิตามินดีตัวนี้ก็เช่นกัน เนื่องจากเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน จึงขับส่วนเกินได้ยากกว่าวิตามินที่ละลายในน้ำ ทำให้แคลเซียมในเลือดสูงเกินไป ส่งผลต่อไตและหัวใจทำงานมากขึ้น เกิดนิ่วในไตได้นะคะ